นมแม่เก็บแค่ไหน ใช้เท่าไหร่ ถึงจะดีที่สุด
น้ำนมแม่มีความสำคัญ สำหรับการเลี้ยงลูกน้อยช่วงแรกเกิดจนถึง 2 ปี เป็นอย่างมาก เพราะน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เสริมสร้างการเจริญเติบโตให้ลูกน้อยได้อย่างสมบูรณ์ และยังสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูก เพิ่มพัฒนาที่ดีทางสมอง อารมณ์ และจิตใจอีกด้วย
ลูกน้อยต้องได้รับนมแม่เท่าไหร่? และนานแค่ไหน
- 1 ถึง 2 ชั่วโมงแรกหลังจากคลอด
- ได้รับนมแม่เท่านั้น ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน
- ดื่มนมแม่ ร่วมกับอาหารตามช่วงวัยได้ตั้งแต่ 6 เดือน จนถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น
เคล็ดลับการเก็บน้ำนมได้นานถึง 2 ปี
ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ลูกน้อยของเรานั้นต้องทานนม 1 ออนซ์ต่อ 1 ชั่วโมง หากคุณแม่ลูกอ่อนแต่ต้องออกไปทำงาน ก็จำเป็นต้องสต็อกเอาไว้ ประมาณ 10 – 12 ออนซ์ต่อวัน เพื่อให้ลูกน้อยได้ทานในช่วงที่เราไม่อยู่กับเขา และเมื่อกลับมาจากทำงานก็ปั๊มน้ำนมคืนในปริมาณเท่าเดิม คุณแม่สต็อกน้ำนมในปริมาณดังกล่าวได้จนลูกน้อยอายุ 1 ปีเลยทีเดียว แล้วค่อยลดปริมาณลง เมื่อลูกน้อยเริ่มทานอาหารตามช่วงวัยควบคู่ไปด้วย
ระยะเวลาการเก็บรักษาน้ำนมแม่เก็บที่ไหน? อยู่ได้กี่วัน?
- 4 ถึง 6 ชั่วโมง หากวางไว้ในห้องอุณหภูมิปกติ
- 1 วัน ในกระติกที่มีน้ำแข็งตลอดเวลา
- 1 ถึง 2 วัน ในตู้เย็นช่องธรรมดา (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความเย็นที่รั่วออกไปมากน้อยเมื่อเปิด-ปิดตู้เย็น)
- 2 อาทิตย์ ในช่องแช่แข็งของตู้เย็นแบบประตูเดียว
- 3 เดือน สำหรับช่องแช่แข็งของตู้เย็นแบบสองประตู
- 6 ถึง 12 เดือน เมื่อเก็บเอาไว้ในตู้เย็นชนิดตู้แช่แข็ง (อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส)
ข้อควรระวังเมื่อคุณแม่นำนมที่สต็อกออกจากตู้
- หากแช่แข็งเอาไว้ควรนำออกมาวางในช่องเย็นธรรมดาของตู้เย็น 12 ชั่วโมง ก่อนใช้งาน
- ควรละลายความเย็นในน้ำอุณหภูมิปกติ ไม่ร้อนเกินไป และแกว่งเบาๆ ให้น้ำนมที่แยกชั้นอยู่ให้เข้ากัน
- ไม่ควรละลายนมในน้ำร้อนจัด เพราะจะทำให้เม็ดเลือดขาวในน้ำนมแม่ ที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันของทารกถูกทำลายได้ คุณค่าสารอาหารในน้ำนมก็จะเสียไปด้วย
ขอบคุณบทความดีๆ จาก
ทีมพยาบาลห้องเด็กแรกเกิด
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต