โรคกรดไหลย้อนอย่าละเลย! เพราะคุณอาจเสี่ยงเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร”
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
04-เม.ย.-2567
โรคกรดไหลย้อนอย่าละเลย! เพราะคุณอาจเสี่ยงเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร”
          ภาวะที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร หรือที่เราเรียกกันว่า “โรคกรดไหลย้อน” นั้น จริงอยู่ที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการทานยา แต่หากปล่อยเรื้อรังจนเกิดพยาธิสภาพในหลอดอาหาร จากโรคกรดไหลย้อนธรรมดา...ก็อาจทวีความรุนแรงจนกลายเป็น “มะเร็งหลอดอาหาร” ได้นะ

อาการของผู้ป่วยขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ถูกระคายเคืองโดยกรด

อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร

  1. เรอบ่อย คลื่นไส้ คล้ายมีอาหารหรือน้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมาในอกหรือคอ
  2. มีอาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ หรืออาจร้าวไปที่บริเวณคอ
  3. รู้สึกถึงรสขมของน้ำดีหรือรสเปรี้ยวของกรดในคอ
  4. กลืนลำบาก คล้ายมีก้อนอยู่ในคอ
  5. เจ็บคอ ในตอนเช้ามักมีเสมหะอยู่ในลำคอ หรืออาจระคายคอตลอดเวลา

อาการนอกระบบหลอดอาหาร
  1. มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือมีฟันผุ
  2. เป็นหวัดเรื้อรัง
  3. เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะในตอนเช้า
  4. ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน
  5. สำหรับผู้ป่วยหอบหืด...อาจมีอาการหอบมากขึ้น และการใช้ยาไม่สามารถบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้



เมื่อเป็นกรดไหลย้อน...ต้องทำอย่างไร?
  1. เปลี่ยนนิสัยส่วนตัว... ด้วยการหลีกเลี่ยงภาวะความเครียด งดสูบบุหรี่ ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป และหากน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากๆ ก็ควรลดน้ำหนัก ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเบ่งเมื่อมีอาการท้องผูก...แต่เลือกกินอาหารที่ช่วยเรื่องระบบขับถ่ายแทน
  2. เปลี่ยนนิสัยในการทานอาหาร... โดยการเลือกทานอาหารที่มีไขมันต่ำ งดอาหารทอด อาหารมัน อาหารย่อยยาก หรืออาหารที่มีรสจัด หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย นม ไข่ ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และทานแค่พอดี ไม่อิ่มจนแน่นท้องเกินไป
  3. เปลี่ยนนิสัยการนอน... หลังการรับประทานอาหารไม่ควรเข้านอนในทันที แต่ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และเวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ

บรรเทาอาการด้วย “ยา”
          ผู้ป่วยมักชอบซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งยาบางชนิดทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทางที่ดี..ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามใบสั่งแพทย์ ไม่ลดหรือหยุดยาเอง และควรมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน