โภชนาการที่ดี…..ในวัยเกษียณ
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
15-ก.พ.-2562

          ทุกๆ คน เมื่ออายุสูงขึ้น เป็นธรรมดาที่สภาพร่างกายจะต้องเสื่อมถอยลงตามไปด้วย การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จึงเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นของผู้สูงวัย ซึ่งนอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว การเลือกรับประทานยังเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นอีกด้วย

อาการที่ฟ้องว่า คุณเข้าสู่วัยเกษียณ แล้ว ได้แก่

  1. ระบบการเผาผลาญไม่ดี
  2. โรคแทรกซ้อนจากพฤติกรรมในอดีต
  3. เคี้ยวได้น้อยลง เนื่องจากฟันไม่ค่อยดี
  4. ความอยากอาหารลดลง
  5. มวลกล้ามเนื้อลดลง  กระดูกเริ่มพรุน 

ดังนั้น ผู้สูงวัยควรเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดโทษ กล่าวคือ เมื่อก่อนอาจจะมีพฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิตแบบนี้เป็นปกติ แต่เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว สิ่งที่ทำเป็นประจำอาจก่อให้เกิดโทษได้

 

ผู้สูงอายุจึงควรปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต โดยมีหลักปฏิบัติ ดังนี้

อาหาร

  1. ลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง แต่รับประทานบ่อยขึ้น เพื่อผ่อนการทำงานของระบบการย่อยอาหาร เช่น วันหนึ่งอาจรับประทาน 4-5 ครั้ง แทนที่จะรับประทานมื้อหนักวันละ 3 ครั้งเช่นเดิม
  2. ลดปริมาณอาหารประเภทให้พลังงาน พวกแป้งและไขมันลงร้อยละ 10-30 ตามอายุที่สูงเกิน 40 ปีขึ้นไป
  3. อาหารพวกเนื้อสัตว์คงเดิม แต่ดัดแปลงให้กินง่าย ย่อยง่าย เช่น ต้มเปื่อย หรือสับละเอียด
  4. มื้อเย็นไม่ควรเป็นอาหารหนัก
  5. ให้ดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ ก่อนนอนจะทำให้นอนหลับสนิทดี
  6. ให้รับประทานอาหารร้อนดีกว่าอาหารเย็น น้ำแกงหรือน้ำซุปร้อนๆ ก่อนอาหาร จะช่วยให้กินได้มาก
  7. ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นบ้าง เช่น น้ำชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น โดยดื่มในปริมาณน้อย เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจสามารถดื่มได้เล็กน้อย กรณียกเว้น คือ ผู้ป่วยที่แพทย์สั่งห้ามดื่ม
  8. ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อเซลล์จะได้ทำงานได้ตามปกติ
  9. อาหารต้องเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย และไม่มีรสจัด
  10. อาหารที่รับประทานควรมีส่วนของกากใย เพื่อไม่ให้ท้องผูก
  11. ส่วนประกอบของอาหารต่างๆ โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามิน แร่ธาตุ และสารโปรตีนต้องมีปริมาณเพียงพอและครบชนิด และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
  12. นอกจากอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว อาหารนั้นควรมีสีสัน กลิ่น รส ชวนให้อยากรับประทานด้วย

 

พฤติกรรมการใช้ชีวิต
1. ควรหากิจกรรมทางสังคมต่างๆ ทำในชีวิตประจำวัน เช่น การสมาคมกับเพื่อนฝูง หรือญาติ จะช่วยได้ทั้งผลทางจิตวิทยาและสรีรวิทยา
2. ควรหมั่นออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อตื่นตัวขึ้น และช่วยมิให้มีการขับถ่ายสารอาหารบางอย่าง อาทิ แร่แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไนโตรเจน
3. ควรหาสถานที่ปลอดโปร่ง อากาศบริสุทธิ์อยู่อาศัย หรือไปพักผ่อนบ้าง เป็นสิ่งจำเป็นกับวัยผู้สูงอายุทั้งร่างกายและจิตใจ



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน