โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแออย่างที่เข้าใจ
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
16-ต.ค.-2566
โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความอ่อนแออย่างที่เข้าใจ

          โรคซึมเศร้า หรือ Major depressive disorder คือ โรคกลุ่มโรคทางอารมณ์อย่างหนึ่งหรือกลุ่มโรคทางจิตเวช เป็นความเจ็บป่วยที่สามารถเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของมนุษย์เรา เหมือนการเจ็บป่วยของโรคอื่นๆ

ภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ต่างจากความเศร้าหรืออารมณ์เศร้าอย่างไร?
          มนุษย์เราทุกคนสามารที่จะมีอารมณ์เศร้าเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่ได้เกิดขึ้นต่อเนื่อง เรื้อรังเป็นเวลานาน รุนแรง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือมีอาการที่ส่งผลกระทบให้เกิดความทุกข์และทรมานต่อการใช้ชีวิต

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซึมเศร้า
          อาการของโรคซึมเศร้านั้น สังเกตง่ายๆ คือมีอาการเศร้าที่มีความรุนแรง ต่อเนื่องยาวนานกว่าปกติ ในบางรายที่พบอาจเกิดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่มีความสุข หมดอารมณ์ร่วมกับที่สิ่งที่ชื่นชอบ กิจกรรมที่เคยชื่นชอบกลับรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำอีกต่อไป นอกจากนั้นแล้วยังมีอาการนอนไม่หลับ นอนมากเกินไป ปัญหาน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับพฤติกรรม เบื่ออาหาร หรือทานมากเกินไปจนผิดปกติ

          นอกจากนี้ยังมีอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลียไม่มีแรง ภาวะการตัดสินใจที่ช้าลง กระสับกระส่าย หรือ เคลื่อนไหวเชื่องช้า เกิดความคิดด้านลบที่เพิ่มมากขึ้น มองว่าตัวเองไร้ค่า มากไปถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่

          ถึงแม้ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป เพราะอาการที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นอาการของโรคทางจิตเวชอื่นๆ รวมไปถึงการใช้ยารักษา การใช้สารเสพติด ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นกัน หากใครมีอาการเหล่านี้หลายๆ ข้อรวมกันควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยต่อไป

โรคซึมเศร้า ไม่ใช่ความอ่อนแออย่างที่เข้าใจ


เด็กและวัยรุ่น สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้ไหม?
          กลุ่มโรคทางจิตเวชนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัย แต่ในเด็กเล็กอาจมีอาการแตกต่างไปบ้าง เนื่องด้วยระดับของพัฒนาการ การรับรู้ การสื่อสารทำให้แสดงออกได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กๆ บอกออกมาในลักษณะที่แตกต่างออกไป เช่น การปวดหัว ปวดท้อง อ่อนเพลีย โดยหาสาเหตุได้ไม่ชัดเจน หรือมีสมาธิสั้น มีปัญหาด้านการเรียนรู้ต่างๆ

          ในกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน รวมไปถึงภาวะของฮอร์โมน ส่งผลให้อาการนั้นแตกต่างจากเด็กเล็ก ทำให้โรคซึมเศร้าในเด็กวัยรุ่นนั้น ไม่ได้แสดงออกมาในลักษณะของความเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะมาด้วยอารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่มีความสุข ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และจำนวนไม่น้อยที่หาทางออกให้ตัวเอง ด้วยการหนีปัญหาหรือใช้สารเสพติดเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากภาวะที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

การเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้หมายความว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่สู้กับปัญหา
          เนื่องจากอารมณ์ หรืออาการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้า เกิดจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจริง มีสาเหตุจากความผิดปกติที่เหมือนโรคเจ็บป่วยทางกายอื่นๆ
โดยมีปัจจัยดังนี้
  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม เพราะโรคทางจิตเวชนั้นสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้
  2. ด้านจิตสังคม ความรู้สึก นึกคิด ผลกระทบจากผู้อื่นตนเอง และผลกระทบจากพฤติกรรมของตนเองต่อผู้อื่น
  3. ชีวเคมีเกิดความบกพร่อง
  4. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสารสื่อประสาทในสมอง

          ดังนั้นแล้วโรคซึมเศร้านั้นเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจริง สามารถรักษาให้หายได้ เหมือนโรคอื่นๆ ทั่วไป



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
โทร 0-2577-8111 ต่อ 2 หรือ 1772

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน