ทำความรู้จักโรคกระดูกพรุน
เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง โรคกระดูกพรุน เกิดจาก ภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต หรือความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งโรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
การขาดความหนาแน่นของมวลกระดูกหลังร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้กระดูกไม่สามารถรับน้ำหนักของร่างกายได้ดีพอ จึงเกิดการบาดเจ็บ แตก หรือหักได้ง่าย แม้เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น หกล้ม ตกบันได เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน- เชื้อชาติ คนผิวขาวมักมีมวลกระดูกน้อยกว่าคนผิวสีเข้ม
- พันธุกรรม ผู้ที่มีคนครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โดยเฉพาะในวัย 60 ปีขึ้นไป พบมากถึง 25%
- ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลง 1-3% ทุกๆ ปี
พฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน1. การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะสารคาเฟอีนนั้นจะทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากอาหารน้อยลง 2. การทานโซเดียม หรือทานเค็มมากเกินไป เพราะร่างกายจะขับโซเดียมทางปัสสาวะ รวมถึงแคลเซียมในร่างกายด้วย 3. ใช้ยาที่มีสเตียรอยด์มากเกินความจำเป็น จะทำให้มวลกระดูกสลายตัวเร็วกว่าที่ควร 4. ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับ ทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร กระเพาะ ตับ และไต นอกจากนี้ พฤติกรรมการนั่งท่าเดิมนานๆ หรือกิจวัตรที่ไม่ค่อยขยับร่างกายก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เช่นกัน
การป้องกันโรคกระดูกพรุน ง่ายๆ ไม่ต้องใช้ยา - ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- การออกกำลังกาย เพราะในทุกก้าวที่เราเดินหรือวิ่ง กระดูกจะดูดซึมแคลเซียมที่ได้จากสารอาหารมาเสริมสร้างความหนาแน่นให้มวลกระดูก จึงช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น
- การรับแสงแดดช่วงเช้าที่ไม่แรงมาก เพราะแสงแดดจะเปลี่ยนไขมันใต้ผิวหนังของเราให้เป็นวิตามิน D ที่เป็นตัวสร้างแคลเซียมเพื่อให้ร่างกายไปใช้สร้างมวลกระดูกอีกต่อหนึ่ง
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือความกังวลว่าจะเป็นโรคกระดูกพรุน สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรอง ด้วยการตรวจมวลกระดูก ควบคู่ไปกับการตรวจสุขภาพประจำปีได้เลย เพราะจะทำให้ทราบถึงคุณภาพของกระดูก ความเสี่ยงต่างๆ เพื่อวางแผนป้องกัน เสริมสร้าง และทำให้กระดูกพรุนช้าลง อันจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมากในระยะยาว
ขอบคุณบทความดีๆ จาก
นายแพทย์วีระยุทธ บุญเกียตริเจริญ
แพทย์ประจำศูนย์ตรวจสุขภาพ
ประจำโรงพยาบาลเปาโล รังสิตปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
Line ID : @paolorangsit