โรคภูมิแพ้ วิธีรับมือและการป้องกัน เมื่อเป็นแล้ว ควรดูแลตนเองอย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
06-ม.ค.-2566
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกวัย และโดยทั่วไปโรคนี้จะมีระยะการดำเนินโรคและการรักษาที่ใช้เวลานาน
 

โรคภูมิแพ้มีทั้งชนิดที่รักษาให้หายขาดได้ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ กับชนิดที่รักษาให้อาการลดลงได้ แต่ยังจะเป็นแบบเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับยาควบคุมอาการอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากในการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพราะบางกลุ่มโรคภูมิแพ้มีความอันตรายที่สามารถนำไปสู่ภาวะการทำงานที่ผิดปกติอย่างรุนแรงของระบบต่างๆ และเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตได้

กลุ่มโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในคนไทย
       
1.กลุ่มภูมิแพ้ผิวหนัง
          ได้แก่ ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มักพบบ่อยในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 1-2 เดือน จนถึงเด็กโต มักมีอาการแสดงเป็นผื่นแห้งแดง คันตามบริเวณผิวหนัง มีตำแหน่งจำเพาะในการเกิด คือ บริเวณแก้ม บริเวณข้อพับ โดยการเกิดภูมิแพ้ในกลุ่มนี้มักจะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มภูมิแพ้อาหาร ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดจากการแพ้อาหารจริง หรืออาจเป็นเพียงอาการแสดงจากการได้รับกระตุ้นจากอาหารเท่านั้น

มีวิธีการดูแลรักษา การทาโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ลดอาการผิวแห้งที่ทำให้เกิดอาการคันและแดง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น เช่น ไม่ใช้น้ำหอม ลดการอาบน้ำอุ่น กรณีเป็นผื่นแพ้ที่มีความสัมพันธ์กับอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ



2.กลุ่มภูมิแพ้อากาศ 
          คือภาวะที่เกิดการแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่อยู่ในอากาศ ทำให้มีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก โดยการมีน้ำมูกในบางคนพบว่าเป็นการมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้เกิดเสียงแหบตามมา หรือในบางรายพบว่ามีน้ำมูกที่ค้างในโพรงจมูก ทำให้เกิดเลือดกำเดา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ กลุ่มภูมิแพ้อากาศมักพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 2 ปี และสามารถเป็นได้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ 

วิธีการดูแลรักษา หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และกลุ่มมลภาวะ เช่น ควันรถ ควันบุหรี่ ควันธูป ควันจากการประกอบอาหาร และฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น ร่วมกับการใช้ยาในการควบคุมอาการตามระบบในร่ากายที่ผู้ป่วยเป็น หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ





3.กลุ่มภูมิแพ้อาหาร
          ถือเป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสารก่อภูมิแพ้อาหารที่พบบ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ขาว แป้งสาลี กรณีเด็กโตหรือผู้ใหญ่ สารก่อภูมิแพ้อาหารที่พบบ่อยจะเป็นกลุ่มอาหารทะเล

วิธีการดูแลรักษา ต้องได้รับการตรวจประเมินชนิดของอาหารที่แพ้ หากเป็นชนิดอาหารที่สามารถรักษาได้ เช่น นมวัว ไข่ขาว แป้งสาลี จะแนะนำให้งดอาหารนั้นๆ หลังจากงดอาหารแล้ว จะมีการตรวจติดตามค่าการแพ้ผ่านผลเลือด ทุก 4-6 เดือน หากค่าการแพ้ลดลงในระดับที่สามารถพอจะทานอาหารนั้นได้ จะให้มี 'การทดสอบการแพ้อาหาร Oral Food Challenge Test' เพื่อยืนยันผลการแพ้อาหาร ว่าสามารถทานอาหารชนิดนั้นๆ ได้หรือไม่

หากเป็นกลุ่มอาหารชนิดที่ไม่สามารถรักษาจนหายขาดได้ เช่น อาหารทะเล ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเล รวมถึงหลีกเลี่ยงกลุ่มที่สัมพันธ์กันด้วย เช่น ผู้ป่วยที่พบว่า แพ้กุ้ง ควรหลีกเลี่ยงสัตว์ทะเลชนิดเปลือกแข็งอื่นๆ ด้วย เช่น กั้ง ปู ทั้งนี้ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรง อาจต้องมีการพกยาฉีดฉุกเฉิน อะดรีนาลีน (Adrenaline) ไว้ด้วย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์ตรวจสุขภาพ  และคลิินิกเด็ก 
โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง

โทร.02-818-9000