โรคข้อเข่าเสื่อม โรคที่มาพร้อมกับวัยชรา
โรคข้อเข่าเสื่อมพบได้มากในผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดเข่า บวมแดง เข่าฝืด ยึด และมีเสียงดังในเข่า ไม่ว่าความรุนแรงของอาการจะมากหรือน้อยก็เป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต สาเหตุที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมอาจมีหลายกรณี เช่น การมีน้ำหนักตัวมากทำให้เข่าต้องรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในขณะก้าวเดิน ความเสื่อมสะสมจากการใช้ข้อเข่าไม่ถูกต้อง หรือเคยได้รับอุบัติเหตุบริเวณข้อ หรือเคยเป็นโรคที่เกี่ยวกับไขข้อ เช่น รูมาตอยด์
อาการของโรค- เริ่มมีอาการปวดเมื่อเข่าทำงานหนัก เช่น การเดิน บางรายอาจมีการปวดเป็นๆ หายๆ บางรายมีอาการปวดตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการเสื่อมของข้อเข่า
- ข้อเข่ามีการผิดรูป มีอาการเข่าบวม หรือขาโก่งออก
- บางรายอาจมีข้อติดหรือฝืด
- มีปัญหาในการนั่งเก้าอี้เตี้ยหรือการขึ้นลงบันได
แนวทางการดูแลข้อเข่า- การใช้ความร้อนประคบ เพื่อลดอาการปวด เกร็งกล้ามเนื้อรอบเข่า
- การบริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรง ช่วยลดแรงกระแทกต่อข้อเข่า
- ควรใช้สนับเข่าในกรณีที่ปวดเข่า เสียความมั่นคง และบริหารข้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ
- ควรหลีกเลี่ยงการนั่ง พับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ เพราะการทำเช่นนี้จะเป็นตัวเร่งให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- ในบางกรณีอาจต้องมีตัวช่วยในการยืน การเดิน เช่นไม้เท้า หรือ ร่มที่สามารถใช้แทนไม้เท้าได้
- เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินทำให้เข่าทำงานหนักต้องแบกน้ำหนักตัว การลดน้ำหนักจึงเป็นสิ่งสำคัญจะช่วยลดแรงกระแทกต่อข้อเข่าเวลาเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้
การใช้ข้อเข่าที่ถูกวิธีจะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าได้
อริยาบทที่ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคข้อเข่าควรมีการปรับให้เหมาะสม เช่น- การนั่งซักผ้าควรนั่งบนเก้าอี้เตี้ยและเหยียดขาออก
- การรีดผ้าควรหลีกเลี่ยงการนั่งพื้น อาจใช้เก้าอี้หรือยืนรีดจะดีกว่า
- ควรใช้ไม้ถูพื้นแทนการก้มถูพื้น
- หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบไปวัด หันมานั่งเก้าอี้แทน
- หลีกเลี่ยงการใช้ส้วมนั่งยอง ควรปรับมาใช้ส้วมชักโครก
ทางเลือกการออกกำลังกายในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
การออกกำลังกายในน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุด เพราะน้ำช่วยพยุงตัวทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง เหมาะกับผู้ที่มีอาการปวดเข่าและมีน้ำหนักตัวสูง แรงหนืดของน้ำช่วยเพิ่มแรงต้านในการออกกำลังกายและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียสจะให้ความสดชื่นแก่ร่างกาย ส่วนอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับร่างกาย เช่น 35 องศาเซลเซียสจะช่วยลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อได้ดี
เมื่อท่านดูแลข้อเข่าได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยชะลอความเสื่อม และยืดอายุการใช้งานของข้อเข่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในการใช้ข้อเข่าให้แก่ท่าน
แนวทางการรักษา
การรักษาโดยไม่ใช้ยา
การลดแรงกดที่ข้อเข่าและการทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้น ช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ซ่อมแซมส่วนของข้อที่เสื่อมได้ การได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ข้ออย่างถูกวิธีจะช่วยให้อาการปวดทุเลาได้ แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่การปรับพฤติกรรมการใช้ข้อและการควบคุมน้ำหนักจะช่วยให้การดำเนินชีวิตดีขึ้น
การรักษาการใช้ยา- ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยาที่ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรกในกรณีที่ ปวดไม่มาก เพราะให้ประสิทธิผลดี และปลอดภัย
- ยาต้านการอักเสบไม่ใช่สเตียรอยด์ ช่วยลดอาการปวดและอักเสบ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ หรือโรคกระเพาะอาหาร
- ยาคลายกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการเกร็งกล้ามเนื้อที่เกิดจากการอักเสบ
- ยาแก้ปวดที่เข้าด้วยอนุพันธ์ฝิ่น ใช้ในกรณีปวดรุนแรง แต่ควรระวังผลข้างเคียง เช่น ท้องผูกและง่วงซึม
- ยาฉีดสเตียรอยด์เข้าข้อ เช่น Glucosamine sulfate หรือ Hyaluronic acid
การรักษาโดยการผ่าตัด- การส่องกล้องข้อเข่า ใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมไม่รุนแรง
- การผ่าตัดปรับแนวข้อ ในกรณีที่ข้อผิดรูป
- การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม (Total Knee Replacement) ใช้ในกรณีข้อเสื่อมรุนแรง
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง โทร 0-2818-9000
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง