การติดเชื้อโควิด-19 เมื่อรักษาหายแล้วยังก่อให้เกิดอาการหลงเหลือต่อเนื่อง ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post COVID-19 Syndrome ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย รวมถึงสมรรถภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาการและความรุนแรงจะแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
มีอาการและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน รวมถึงการฟื้นฟูร่างกายได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงควรรู้ถึงอาการระยะยาว เพื่อจะได้รู้เท่าทัน เตรียมพร้อมรับมือ และดูแลตัวเองให้ถูกวิธี
อาการลองโควิดจะมีความแตกต่างในแต่ละคน เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
อย่างไรก็ดี มีลักษณะอาการร่วมที่พบได้บ่อยที่สามารถนำมาสรุป ได้แก่
- อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- มีอาการหายใจถี่ หรือหายใจไม่ทัน หอบเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม
- ใจสั่น รู้สึกแน่นหรืออึดอัดบริเวณหน้าอก
- ความจำสั้น สมาธิสั้น หรือรู้สึกสมองล้า
- มีไข้ ไอ ปวดหัว เจ็บคอ
- มีการรับรสหรือได้กลิ่นน้อยลง
- ปวดตามข้อต่อต่าง ๆ
- นอนไม่หลับ หลับยาก
- เวียนศีรษะ
- ปวดท้อง ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร
- มีผื่นขึ้นตามตัว
- อาจมีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
ภาวะแทรกซ้อนของโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ไตวายเฉียบพลัน
- ตับอักเสบเฉียบพลัน
- ภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท
- ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
.jpg)
Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C)
อย่างไรก็ตาม นอกจากภาวะลองโควิดแล้ว ยังมีภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นหลังจากติดเชื้ออีกหนึ่งอย่าง คือ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) ซึ่งมักจะพบในเด็ก นับเป็นอีกหนึ่งภาวะที่ควรทำความรู้จัก
เป็นกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบ
เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2 – 6 สัปดาห์สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป
อาการจากภาวะ “MIS-C”- ไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
- ตาแดง
- ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
- ผื่นขึ้นตามตัว
- มีอาการช็อค ความดันต่ำ
- ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
- หายใจหอบ
- ปวดศีรษะ ซึม
ภาวะ “MIS-C” อาจก่อให้เกิดอาการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย อาทิ- ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้มีอาการช็อค ความดันต่ำ หัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ
- ระบบทางเดินหายใจ ปอดอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
- ระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย ท้องอืด อาเจียน ปวดท้อง เลือดออกทางเดินอาหาร หรือตับอักเสบ
- ผิวหนัง ผิวหนังแดง เยื่อบุอักเสบ เป็นผื่น
- ระบบประสาท มีอาการชัก เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ระบบเลือด เกิดการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- ไตวายฉับพลัน

กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะลองโควิด Long COVID
อาการ Long COVID มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 30-50% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว อาจเกิดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาแล้ว 4-12 สัปดาห์ขึ้นไป มีรายงานว่าพบผู้ป่วย Long covid ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (โดยเฉพาะในวัยทำงาน)
กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว (ผู้ป่วยสีเหลืองไปจนถึงสีแดง) โดยเฉพาะในกรณีที่เชื้อลงปอดแล้วเกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากจะเกิดรอยโรคที่มีในปอดได้มากกว่า และใช้ระยะเวลาฟื้นตัวนานกว่า นอกจากนี้ อีกกลุ่มที่ควรเฝ้าระวัง เพราะมีโอกาสได้รับผลกระทบของโรคที่รุนแรงและฟื้นตัวได้ยากกว่า คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะอ้วน ผู้ป่วยโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวาน รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ
วัคซีนโควิดช่วยป้องกันลองโควิด Long COVID
ผู้ป่วยบางส่วนที่มีปัญหา Long COVID เป็นเวลานาน มีอาการที่ดีขึ้นหลังได้รับการฉีดวัคซีน แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีการคาดการณ์สาเหตุว่าอาจมาจากการตอบสนองต่อการกระตุ้นของวัคซีน ทำให้ภูมิคุ้มกันมีความเปลี่ยนแปลงหรือถูกกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ ให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ
แนวทางป้องกันเบื้องต้นที่ควรทำ เพื่อลดความเสี่ยงจากลองโควิด Long COVID ได้แก่
- ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง
- หากมีโรคประจำตัว พยายามดูแลตนเอง ควบคุมอาการภาวะของโรคประจำตัว พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม แล้วหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ
- สร้างสภาวะจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส ไม่เครียด ไม่วิตกกังวลหรือแพนิค
-
ปรับตัวรับมือในสภาวะต่างๆ
ศูนย์ตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
02 818 9000