ทำความรู้จัก โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina) โรคติดต่อเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายกับลูกน้อย.
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
20-ก.ค.-2565
ทำความรู้จัก โรคเฮอร์แปงไจนา (Herpangina)
โรคติดต่อเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายกับลูกน้อย มักระบาดในช่วงฤดูฝน และพบบ่อยในเด็กอายุ 2 ถึง 10 ปี เป็นโรคที่พบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้จะติดต่อกันได้ในสถานที่ที่มีเด็กๆ อยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในกลุ่มคอกซากีไวรัสกรุ๊ปเอ (Coxsackie viruses A sero type 1 – 10, 16 และ 22) และเอ็นเทอร์โรไวรัส (Enterovirus)



โดยโรคนี้สังเกตได้จากการเกิดแผลขนาดเล็กในลำคอ มีไข้ อ่อนเพลีย ทำให้เด็กๆ เบื่ออาหาร ไม่ยอมกินข้าว อาจมีการอาเจียนด้วย เด็กเล็กจะซึม งอแง สำหรับเด็กโตมักพบอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดคอ  โดยพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน โรคนี้แพร่เชื้อผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ อุจจาระ หรือการแพร่เชื้อที่ปนเปื้อนมาในน้ำ อาหาร ภาชนะ มือ ของเล่น โต๊ะเก้าอี้ วัสดุต่างๆ ผ่านเข้าทางปาก ซึ่งไวรัสกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการก่อโรค การได้รับเชื้อเพียงแค่ 10-100 ตัวก็สามารถเกิดการติดเชื้อได้  ลักษณะอาการใกล้เคียงโรคเท้าปากอาจทำให้สับสน

อาการของโรค
อาการของโรคแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ที่พบได้คือ มีไข้แบบเฉียบพลัน ได้รับยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น และอาจมีไข้สูง 40 องศา เด็กบางคนอาจมีอาการชักจากไข้สูง กลืนลำบาก ทำให้ปฏิเสธอาหาร เบื่ออาหาร น้ำลายไหล อาเจียน อาจพบมีภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น ริมฝีปากแห้ง ตาโหล ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะน้อย พบแผลในปาก เป็นแผลเล็กๆ หลายแผลบริเวณเพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอด้านหลัง ลักษณะของแผลที่พบจะเกิดใน 2 วันหลังการติดเชื้อ โดยแผลมีขนาด 2-4 มิลลิเมตร สีขาวหรือเทาอ่อนมีขอบแดง  

โรคมือ เท้า ปาก VS เฮอร์แปงไจน่า แตกต่างกันอย่างไร?
แม้ว่า “โรคมือ เท้า ปาก” และ “เฮอร์แปงไจน่า” เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน แต่อาการแสดงแตกต่างกัน คือ โรค มือ เท้า ปาก จะมีไข้ มีผื่น ตุ่มน้ำใสหรือเม็ดแดงๆ ในปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีอาการ อาเจียน ถ่ายเหลวรุนแรง ร่างกายขาดน้ำ ปอดบวมน้ำ หอบเหนื่อย ซึม ชัก เกร็ง ช็อกเสียชีวิต ส่วน “โรคเฮอร์แปงไจน่า” จะไม่พบผื่นบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า จะสังเกตอาการของโรคนี้ได้ค่อนข้างลำบากในช่วงแรก ต่อเมื่อเริ่มมีผื่นขึ้น คออักเสบ จึงจะสามารถสังเกตอาการได้ บางรายอาจพบเพียงผื่นและแผลตื้น ๆ กราย ๆ ในช่องปาก เท่านั้น

แต่หากเด็กมีไข้สูง ได้ยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น ไม่ยอมดื่มน้ำ นม หรือรับประทานอาหารไม่ได้ หายใจหอบ มีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชัก  ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์โดยเร็ว

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่จะรักษาโรคเฮอแปงไจน่า สามารถหายเองได้ภายใน 7-10 วัน มีวิธีการรักษาตามอาการ ดังนี้
  • หากมีไข้ เช็ดตัวจนกว่าไข้จะลดลง ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอลหรือให้ไอบูโปรเฟน เพื่อลดความเจ็บปวดจากผื่นแผลในปาก
  • ให้เด็ก จิบ ดื่มน้ำเย็นบ่อยๆ หรือดื่มนมเย็นที่มีรสไม่หวานมาก
  • ให้อาหารจืด อ่อน ย่อยง่าย
  • หากไข้ขึ้นสูงและเด็กไม่ยอมรับประทานอะไรเลย ควรพาไปพบแพทย์ 
  • แพทย์อาจใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาชา เพื่อลดอาการคออักเสบ

การป้องกันโรคเฮอร์แปงไจน่า

  • วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ล้างมือให้สะอาด ด้วยน้ำสบู่ และน้ำสะอาด
  • ระวังการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก ข้าวของเครื่องใช้ของเด็กที่เป็นโรค ซึ่งรวมทั้งของเล่นต่างๆ ด้วย หากเด็กป่วยให้งดไปโรงเรียน 7 วัน
  • ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในชุมชน พื้นที่สาธารณะ ที่มีคนอยู่จำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ในช่วงที่มีการระบาด


คลินิกเด็ก 24 ชม. โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
โทร . 02 818 9000 ต่อ 113