ตรวจสุขภาพ ควรเริ่มต้นที่อายุเท่าไร?
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
31-ต.ค.-2565

ตรวจสุขภาพ ควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่?

ด้วยสภาพร่างกายและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละเพศแต่ละวัยของแต่และคนนั้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การเลือกรายการตรวจสุขภาพให้เหมาะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ และเราทุกคนก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยชราเลยทีเดียว

 

แล้วแต่ละช่วงวัยควรตรวจอะไรบ้าง?

กลุ่มเด็กแรกเกิด จนถึงวัยรุ่นไม่เกิน 20 ปี

  • ตรวจสุขภาพตามรายการมาตรฐาน ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง คำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) หากน้อยไปหรือมากไป จะได้ปรับการรับประทานและการออกกำลังกายให้เหมาะสมตามวัย
  • ตรวจพัฒนาการด้านต่างๆ ตามช่วงอายุ และรับวัคซีนตามช่วงวัย
  • ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
  • ตรวจสุขภาพดวงตา สายตาและการมองเห็น

 

กลุ่มวัยรุ่นตอนปลาย ผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 20-30 ปี 

ช่วงปลายวัยรุ่นวัยเรียนและเริ่มเข้าสู่วัยทำงาน หลายคนอาจละเลยการดูแลสุขภาพ เพราะคนในวัยนี้ส่วนใหญ่ยังแข็งแรง ไม่ค่อยมีการเจ็บป่วยจากความเสื่อมของร่างกาย แต่อย่างน้อยควรได้รับการตรวจสุขภาพพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง เพราะบางคนอาจมีรอยโรคบางอย่างที่เป็นมาแต่กำเนิดแต่ยังไม่เคยตรวจพบ หรือบางรายอาจมีโรคที่เกิดจากความเสี่ยงทางพันธุกรรมยางอย่าง หรือโรคอื่นๆ ที่สามารถตรวจได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะช่วยให้มีการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลักเลี่ยงการเพิ่มความเสี่ยง รักษาหรือชะลอโรคไม่ให้ลุกลาม

 

กลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 30-40 ปี

คนในวัยทำงานส่วนมากมักมีรูปแบบการใช้ชีวิตซ้ำๆ การรับประทานอาหารแบบเดิมๆ ที่เน้นความรวดเร็ว ดื่มน้ำน้อย ยิ่งหากขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสะสม นอนดึก คุณภาพการนอนไม่ดี จึงมักมีภาวะน้ำหนักตัวเกินและไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นต้นเหตุของหลายโรค ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพพื้นฐานให้ครบถ้วน ดังนี้

  • ความสมบูรณ์ของระบบเลือด เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว
  • ความยืดหยุ่นของหลอดเลือด
  • ระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด
  • ตรวจสุขภาพปอดด้วยการเอกซเรย์ปอด
  • ตรวจค่าการทำงานของตับและไต
  • ตรวจกรดยูริก
  • ตรวจสมรรถภาพหัวใจ ด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography : EKG)
  • ตรวจปัสสาวะ
  • อัลตร้าซาวด์ช่องท้อง
  • ตรวจสุขภาพดวงตา วัดสายตา ความดันลูกตา

 

กลุ่มอายุ 40-50 ปี

ตรวจพื้นฐานเหมือนกับอายุ 30-40 ปี และตรวจเพิ่มเติมละเอียดมากขึ้น เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็ง ตรวจฮอร์โมน การทำงานของปอด ภาวะไขมันพอกตับที่นำไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับ ตรวจการทำงานหัวใจให้ละเอียดขึ้น เพราะโรคร้ายหรือภัยแฝงสุขภาพในช่วงวัยนี้พี่พบบ่อยขึ้น คือภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน อันมีสาเหตุมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบ และจากการมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ดังนั้นจึงควรตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EXERCISE STRESS TEST : EST) กับตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram : Echo) เพิ่มเติม ทั้งนี้สำหรับเพศชายและเพศหญิงยังมีสิ่งที่ควรตรวจเพิ่มเติมที่แตกต่างกัน คือ

  • ผู้หญิง ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง Mammogram แต่อาจต้องตรวจเร็วขึ้นก่อนอายุ 40 ปี ถ้ามีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมในขณะที่อายุน้อยๆ
  • ผู้ชาย ควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

 

กลุ่มอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

นอกจากรายการตรวจพื้นฐานและการตรวจเพิ่มเติมในช่วงวัย 40-50 ปี แล้ว ในวัย 50 ปีขึ้นไปควรตรวจเพิ่มเติมเพื่อเน้นการค้นหาโรคแฝง โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดห้วใจ มะเร็ง ตรวจภูมิคุ้มกันที่มักลดลงตามวัย ดังนั้นควรพิจารณาเพิ่มรายการตรวจต่างๆ เหล่านี้ เช่น

  • ตรวจวัดระดับสารอาหารวิตามิน เช่น วิตามินดี
  • CT Heart Calcium Score ตรวจภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โดยการวัดระดับแคลเซียมหรือหินปูนที่ผนังหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ บริเวณลิ้นหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ
  • MRI and MRA Brain ตรวจดูเนื้อสมอง ความเสี่ยงโรคสมองขาดเลือด เนื้อสมองฝ่อ มะเร็งสมอง
  • Low Dose CT Scan Lung ตรวจโรคปอด คัดกรองมะเร็งปอดอย่างละเอียด
  • CT Intra-Abdominal Fat วัดปริมาณไขมันในช่องท้องซึ่งสัมพันธ์หรือบอกถึงความเสี่ยงโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือสมอง โรคความดันโลหิตสูง
  • Carotid Intima Thickness and Color Doppler ตรวจวัดการอุดตันและการไหลเวียนเลือดของเส้นเลือดแดงใหญ่บริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง หาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Stroke)

นอกจากนี้ยังมีการตรวจยีน (Gene Testing) เพื่อหาความเสี่ยงการเกิดโรคก็มีความสำคัญ สามารถบอกความเสี่ยงการเกิดโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ต้องรอให้ผลเลือดผิดปกติ ช่วยวางแผนดูแลสุขภาพทั้งการออกกำลังกาย อาหาร การตรวจทางการแพทย์ที่เหมาะสมตามความเสี่ยงทางพันธุกรรม

 

กลุ่มผู้สูงอายุ วัย 60 ปีขึ้นไป

  • ตรวจร่างกายทั่วไป ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง BMI และวัดความดันโลหิต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ตรวจสุขภาพตา อายุ 60-64 ปี ตรวจทุก 2-4 ปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 1-2 ปี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการมองไม่ชัด

 

การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น

  • ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไต ควรตรวจทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของไต
  • ตรวจหาเบาหวาน ควรตรวจทุกปี
  • ตรวจหาไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี
  • ตรวจหาภาวะซีด ควรตรวจทุกปี เมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
  • ตรวจปัสสาวะ ควรตรวจทุกปี เพื่อคัดกรองความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ตรวจคัดกรองมะเร็ง
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตรวจอุจจาระทุกปี
  • มะเร็งเต้านม ตรวจทุกปีจนถึงอายุ 69 ปี
  • มะเร็งปากมดลูก ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี
  • ประเมินสภาวะสุขภาพในผู้สูงอายุ
  • ภาวะโภชนาการ เพื่อลดภาวะทุพโภชนาการ และได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม
  • ความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการป้องกันการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • ความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เพื่อป้องกันการเกิดกระดูกหัก
  • ภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสมในการดำรงชีวิต
  • ภาวะซึมเศร้า เพื่อคัดกรองภาวะซึมเศร้า และได้รับการวินิจฉัยช่วยเหลือที่ถูกต้องและเหมาะสม

 

จะเห็นได้ว่า รายการตรวจสุขภาพของแต่ละวัยจะมีทั้งเหมือนและแตกต่างกัน หากยังเลือกไม่ถูกว่าควรตรวจอะไรบ้างดี เราสามารถปรึกษาแพทย์หรือเลือกแพ็กเกจตรวจสุขภาพตามช่วงอายุไว้ก่อน แล้วค่อยเลือกตรวจรายการอื่นๆ เพิ่มเติมตามความเสี่ยงของตนเอง ก็จะช่วยให้เรารู้ถึงสภาพร่างกาย เพื่อการดูแล หรือได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลตนเอง และใช้ชีวิตได้อย่างใจปรารถนาในทุกช่วงอายุ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

แผนกตรวจสุขภาพ

โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง

โทร. 02-818-9000