คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางนรีเวช
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
15-ก.ย.-2565 ถึง 05-ก.ย.-2587
ประเภทของการผ่าตัด :  ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดรังไข่ ผ่าตัดมดลูกและรังไข่ ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก ผ่าตัดเลาะผังผืด
เวลาที่ใช้ในการผ่าตัด : ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนละสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นต่ออีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จึงส่งผู้ป่วยกลับไปหอผู้ป่วย
ระยะเวลาพักฟื้น : ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัดและภาวะสุขภาพของผู้ป่วย ในผู้ป่วยที่สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน พักฟื้นที่โรงพยาบาล ประมาณ 3-4 วัน และพักฟื้นที่บ้านต่ออีกประมาณ 2-4 สัปดาห์

การประเมินความพร้อมก่อนการผ่าตัด
1. การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ,  ตรวจเอกซเรย์ปอด(CXR) , ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจพิเศษ ทั้งนี้เพื่อประเมินปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนระหว่างและหลังผ่าตัด และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ
2. การประเมินความเสี่ยงทางอายุรกรรมต่อการผ่าตัด เช่น โรคหัวใจ,โรคความดันโลหิตสูง,โรคเบาหวาน, โรคของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
3. ยา และอาหารเสริมที่ทานประจำ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่แรก เพื่อพิจารณางดการใช้ยาหรืออาหารเสริมดังกล่าว
4. การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ
5. การเตรียมเลือดสำรองในการผ่าตัด

คำแนะนำก่อนผ่าตัด
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมในการผ่าตัด
2. พักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้แข็งแรง ไม่อ่อนเพลียก่อนผ่าตัด
3. ก่อนผ่าตัด 1 วัน ควรทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ตัดเล็บไม่ทาเล็บ
4. มาแอดมิทที่โรงพยาบาลตรงตามเวลาที่นัดหมาย และงดน้ำงดอาหารตามเวลาที่ระบุในใบนัด  
5. งดใส่เครื่องประดับมาโรงพยาบาล

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
1. การงดน้ำงดอาหาร ประมาณ 6-8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด หรือตามคำสั่งแพทย์โดยอาหารที่รับประทานก่อนงดควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย เพื่อลดและป้องกันการสำลักอาหารเข้าไปในขณะที่มีการให้ยาระงับความรู้สึกและยังทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องอืดหลังผ่าตัดอีกด้วย
2. ถอดฟันปลอม เครื่องประดับหรือของมีค่าก่อนเข้าห้องผ่าตัด
3. การเตรียมลำไส้ โดยการสวนอุจจาระ  ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อช่วยด้านการมองเห็นทำให้ผ่าตัดได้ง่ายขึ้น
4. การทำความสะอาดผิวหนังบริเวณหน้าท้องและหัวเหน่า
5. การคาสายสวนปัสสาวะ จะทำภายหลังจากที่ระงับความรู้สึกแล้ว ในห้องผ่าตัด
6. การเปิดหลอดเลือดดำและให้สารน้ำก่อนการผ่าตัด
7. การให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด เพื่อเป็นการลดการติดเชื้อหลังการผ่าตัด โดยการให้ทางหลอดเลือดก่อนไปห้องผ่าตัดทันที ตามคำสั่งการรักษาของแพทย์

 สภาพหลังการผ่าตัด
1. มีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง
2. มีสายน้ำเกลือที่แขนข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจมีฉีดยาปฏิชีวนะทางสายน้ำเกลือ ประมาณ 1-2 วัน
3. สวนคาสายปัสสาวะไว้ประมาณ 1-2 วัน (ยกเว้นในบางกรณีอาจคาสายไว้นานกว่านี้)
4. อาการข้างเคียงหลังดมยาสลบ เช่น เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ
5. อาการข้างเคียงหลังได้รับยาระงับความรู้สึก โดยฉีดยาชาบริเวณหลัง เช่น อาการคันตามร่างกาย ปวดศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน ผู้ป่วยนอนราบ 12 ชั่วโมง

การปฏิบัติตัวเมื่อกลับจากห้องผ่าตัด
1. หายใจเข้าออกลึกๆ โดยทำจำนวน 5 ครั้งในทุกๆ 1 ชั่วโมง
วิธีการ
     - นอนศรีษะสูงหรือลุกนั่ง งอเข่าเล็กน้อย ยกเว้นในกรณีบล็อคหลัง
     - ใช้มือทั้ง 2 ข้าง วางหรือประสานกันบริเวณแผลหรือใช้หมอนวางบริเวณแผลทำให้ลดความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้น
     - หายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ทางจมูก ค้างไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
     - ห่อริมฝีปากเหมือนจะผิวปาก แล้วผ่อนลมหายใจออกช้าๆ ยาวๆ

 2. ไอแบบมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาเสมหะออกจากลำคอ
วิธีการ
     - หายใจเข้าออกลึกๆ ประมาณ 4 ครั้ง (ตามวิธีดังกล่าวข้างต้น)
     - ครั้งที่ 4 หายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้ประมาณ 3 วินาที (นับ 1-2-3 ในใจ)
     -  ใช้มือทั้ง 2 ข้างกดแผลก่อนไอ
     - แล้วไออกมาจากส่วนลึกของลำคอ 1-2 ครั้ง เพื่อขับเสมหะที่คั่งค้างออกมา

 3. หลังผ่าตัดสามารถพลิกตะแคงตัวได้ตามความต้องการและภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด พยาบาลแนะนำวิธีการลุกนั่ง/ลุกจากเตียงอย่างถูกวิธี โดย
     - นอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง
     - ใช้ข้อศอกข้างที่อยู่ด้านล่างยันกับพื้น
     - แขนอีกข้างเกาะไหล่คนที่ช่วยพยุงหรือเหล็กกั้นเตียง
     - แล้วยกตัวขึ้นในท่าตะแคง

4. งดน้ำงดอาหารจนกว่าจะมีคำสั่งแพทย์ให้เริ่มอาหาร โดยส่วนใหญ่ประมาณ 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด โดยจะเริ่มที่อาหารเหลวแนะนำให้จิบน้ำอุ่นหรือน้ำข้าว น้ำซุปจำนวนน้อยๆก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณให้มากขึ้นและเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนย่อยง่าย งดนม งดน้ำอัดลม เพราะจะทำให้ท้องอืดได้ และหลังรับประทานอาหารควรลุกนั่งหรือเดินอย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อป้องกันภาวะท้องอืด

5. ภาวะหลังผ่าตัด อาจมีไข้ ท้องอืด หรือมีเลือดอออกทางช่องคลอดได้

6. ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆ กรุณาแจ้งแพทย์ หรือพยาบาลที่ดูแลทราบ

คำแนะนำเมื่อกลับบ้าน

1. การดูแลแผลผ่าตัด ถ้าปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ให้อาบน้ำได้ตามปกติโดยการตักอาบหรือฝักบัว ไม่ควรนอนแช่อ่าง แต่ถ้าแผลไม่ได้ปิดพลาสเตอร์กันน้ำ ห้ามให้แผลโดนน้ำ

2. ไม่ควรทำงานบ้านหรือกิจกรรมหนักๆ ใน 2 เดือนแรกหลังผ่าตัด เช่น การทำสวน การอุ้มเด็กเล็ก การยกของหนักเกิน 10 กก. เพราะจะต้องเกร็งกำลังทำให้เกิดแรงดันในผนังช่องคลอด เสี่ยงแผลปริหรืออักเสบได้

3. ไม่ควรขับขี่รถหรือยานพาหนะใดๆ เพราะผู้ป่วยยังจำเป็นต้องกินยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน รวมทั้งอาจจะได้รับแรงกระแทกจากการต้องเกร็งหน้าท้อง ขา ซึ่งอาจจะกระทบกระเทือนต่อแผลภายในได้

4. ไม่ควรการสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

5. ไม่ควรปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูก หรือเบ่งอุจาระแรงๆ เพราะจะทำให้เกิดแรงดันที่แผล

6. ไม่ควรออกกำลังกายหนักใน 6 สัปดาห์แรก โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก เกร็ง หรือมีแรงปะทะ เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก ตีแบดมินตัน แต่สามารถ-     

7. เดินออกกำลังกายเบาๆ ได้

8. มาตรวจตามนัด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น แผลอักเสบ บวมแดง ไข้สูง มีเลือดออกจำนวนมากหรือหนองออกจากช่องคลอด ให้รีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด

9. สภาวะหลังผ่าตัดมดลูก และ/หรือรังไข่ทั้งสองข้างจะทำให้ไม่มีประจำเดือน และไม่สามารถมีบุตรได้ แต่หากเป็นการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ และ/หรือรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง จะยังคงมีประจำเดือน และสามารถมีบุตรได้

10. การผ่าตัดรังไข่ทั้งสองข้าง บางรายอาจมีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศรีษะ หงุดหงิด ใจสั่นได้ เนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนเพศหญิง ถ้ามีอาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการให้ฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไปทดแทน โดยแนะนำให้มาปรึกษาแพทย์

11. หลังกลับบ้าน  7-10 วัน จะต้องกลับมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจประเมินการหายของแผลผ่าตัด และแจ้งผลการตรวจทางพยาธิวิทยา รวมทั้งวางแผนการรักษาหรือตรวจติดตาม



บทความโดย นายแพทย์สุระ โฉมแฉล้ม
สูตินรีแพทย์ ชำนาญการเฉพาะทางผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5420