โรคปริทันต์ กับผู้ป่วยเบาหวาน ความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ต้องระวัง
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
21-ก.ย.-2566

โรคปริทันต์อักเสบ เกิดจากเกิดจากการที่เราทำความสะอาดเหงือกและฟันได้ไม่ดีพอ คราบอาหารที่ตกค้างร่วมกับน้ำลายทำให้มีการสะสมของแบคทีเรีย เกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque) ลักษณะเป็นคราบสีขาวขุ่นนิ่ม ติดอยู่บนตัวฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณร่องเหงือกและซอกฟัน เมื่อเวลาผ่านไป ถ้าไม่ได้รับการกำจัดออก ก็จะเกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุที่อยู่ในน้ำลาย กลายเป็น หินปูน  หรือ หินน้ำลาย ที่มีลักษณะขรุขระ ง่ายต่อการสะสมคราบจุลินทรีย์มากยิ่งขึ้น แบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะสร้างสารพิษมาทำลายเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน เกิดเป็นโรคปริทันต์อักเสบในที่สุด อาการที่ผู้ป่วยรู้สึกได้ คือ เหงือกบวม มีเลือดออกภายหลังการแปรงฟัน เจ็บเหงือกเวลาเคี้ยวอาหารในบางครั้ง ฟันโยก มีกลิ่นปาก ในกรณีที่เป็นโรครุนแรงมาก ๆ อาจมีเหงือกบวมเป็นหนอง ฟันยื่นยาวหรือแยกกันเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้ ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา

โรคปริทันต์อักเสบ หากไม่รักษาปล่อยทิ้งไว้อันตรายหรือไม่ 
โรคปริทันต์อักเสบ คือ โรคที่มีการทำลายของอวัยวะที่อยู่รอบ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ ผิวรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ซึ่งอวัยวะเหล่านี้ทำหน้าที่ยึดฟันให้สามารถคงอยู่ในขากรรไกรได้  โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง มีการทำลายเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกเบ้าฟันอย่างต่อเนื่อง  ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบและไม่ได้รับการรักษา อวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวันจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด

มีแผนการรักษาอย่างไรบ้าง
การรักษาโรคปริทันต์อักเสบ คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคนี้รวมทั้งกำจัดแหล่งอาศัยของเชื้อแบคทีเรีย ด้วยการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ทั้งที่อยู่เหนือเหงือกและใต้ขอบเหงือก ร่วมกับสอนทำความสะอาดเหงือกและฟันที่ถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลสุขอนามัยช่องปากของตนเองได้ ภายหลังการรักษา

ขั้นตอนนี้จะใช้เวลานาน เนื่องจากต้องกำจัดหินปูน และคราบจุลินทรีย์ให้หมด โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ร่องเหงือกลึก ๆ และฟันหลัง ที่มีหลายราก ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะต้องทำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง ภายหลังจากรักษาเสร็จแล้วประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดกลับมาดูอาการอีกครั้ง ว่าหายดีหรือไม่ และถ้ายังมีร่องลึกปริทันต์เหลืออยู่เนื่องจากมีการละลายของกระดูกไปมาก อาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ( ศัลยปริทันต์ : Periodontal Surgery)  ร่วมด้วย ซึ่งจะทำได้ในผู้ป่วยที่ดูแลความสะอาด ได้ดีแล้วเท่านั้น)  

ผู้ป่วยโรคปริทันต์ ควรได้รับการตรวจติดตามผลการรักษา และให้ทันตแพทย์ขูดหินน้ำลายเพื่อ ทำความสะอาดฟันเป็นประจำทุก ๆ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้โรคปริทันต์กลับมาอีก

สามารถป้องกันได้หรือไม่
โรคปริทันต์อักเสบสามารถป้องกันได้ โดยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดทุกวันด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงซอกฟันอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอ

 
ทำไมผู้ป่วยเบาหวานจึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์อักเสบมากกว่าคนทั่วไป
สาเหตุหลักของการเกิดโรคปริทันต์อักเสบ คือ เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในคราบจุลินทรีย์ อย่างที่เราทราบแล้วว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรียต่ำกว่าคนทั่วไป และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก เช่น อาการปากแห้งเนื่องจากน้ำลายไหลน้อยลง อาการปวดแสบปวดร้อน ติดเชื้อในช่องปากง่าย แผลหายช้า ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคปริทันต์อักเสบเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน


 วิธีการป้องกัน ดูแลรักษาโรคปริทันต์อักเสบในผู้ป่วยเบาหวานแตกต่างจากคนทั่วไปหรือไม่

มีหลายการศึกษาที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ไม่ดี จะมีโอกาสเป็นโรคปริทันต์อักเสบและสูญเสียฟันมากกว่าผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีและผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานดังนั้นนอกจากเข้ารับการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ และดูแลทำความสะอาดช่องปากให้ดีแล้ว ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีด้วย

คำแนะนำในการดูแลสุขภาพฟันสำหรับทุกวัน ควรดูแลอย่างไร
1. แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ
2. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
3. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน


“ การป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพเหงือกและฟันที่ได้ผลดี

คือ การใส่ใจดูแลทำความสะอาดฟันให้ถูกวิธี ด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟัน

 

ถือเป็นเรื่องพื้นฐานของการดูแลรักษาความสะอาด

ที่ควรทำเป็นประจำทุกวัน ”







สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 579 1627
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset