อาการปวดท้อง เป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย และมักกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเล็กๆ น้อยๆ แต่อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งนั้น อาจจะไม่ใช่การปวดท้องทั่วไปแบบที่เรามักคิดกัน จึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้โรคลุกลามจนยากที่จะรักษา
ตำแหน่งที่ปวดท้อง สามารถบอกโรคได้ไหม?
เมื่อมีอาการปวดท้อง และต้องการจะระบุว่าอาการปวดท้องนั้นเกิดขึ้นตรงจุดไหน หรือเป็นเพราะสาเหตุใดนั้นอาจจะทำได้ยาก คือไม่แม่นยำเพียงพอกับการแค่ฟังคำบอกเล่าจากผู้ป่วย นั่นเพราะบางครั้ง ความรู้สึกปวดตรงตำแหน่งอวัยวะนั้นๆ กับอาการปวดจริงอาจเกิดกับอีกอวัยวะหนึ่งที่ไม่ตรงจุดกันจากความรู้สึกก็เป็นได้ เนื่องจากเส้นประสาทบริเวณผนังหน้าท้องมีอยู่มากมาย ทำให้การระบุตำแหน่งที่ปวดท้องอาจคลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งจริง ที่สุดแล้วจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ หรือใช้เทคนิคการตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับการซักประวัติ เพื่อสรุปสาเหตุที่แน่ชัดว่าเป็นโรคอะไร เกิดกับอวัยวะใด จะได้วางแผนการรักษาได้ถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วขึ้น
เชื้อแบคทีเรีย H. Pylori ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร...ที่มาอาการปวดท้อง
เชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร หรือ H. Pylori (Helicobacter Pylori) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เชื้อชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อน ไม่ว่าจะในขั้นตอนการเตรียมอาหารและวัตถุดิบ รวมทั้งการทานอาหารที่ทิ้งค้างไว้นาน เมื่อเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไรเข้าสู่กระเพาะอาหาร และเข้าสู่เซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารตามลำดับ จะส่งผลให้มีอาการปวดท้องเรื้อรัง คลื่นไส้อาเจียน แม้จะรักษาด้วยการกินยาคนไข้ก็มักยังคงอาการปวดท้องอยู่ ทั้งนี้พบว่า การติดเชื้อชนิดนี้ยังเป็นที่มาของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และการเป็นโรคกระเพาะอักเสบได้ในที่สุด
การตรวจวินิจฉัยอาการปวดท้อง..เนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร
การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori สามารถตรวจได้ด้วยวิธีคัดกรองผ่านการตรวจอุจจาระ หรือการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น (Endoscopy) ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจคัดกรองที่แพทย์จะพิจารณาสำหรับผู้ที่มีข้อบ่งชี้ปัญหาทางสุขภาพ เช่น มีปัญหากรดไหลย้อนบ่อยๆ ทานอาหารไม่ได้ อาหารไม่ย่อย อาเจียนเป็นเลือด มีอาการปวดท้องมากจนไม่สามารถควบคุมอาการปวดนั้นได้ โดยกระบวนการตรวจด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นนี้ จะช่วยค้นหาความผิดปกติของอวัยวะส่วนหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยในกรณีมีก้อนหรือแผลในกระเพาะอาหารเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามหากมีอาการปวดท้องหรือความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อเข้ารับการปรึกษา ตรวจดูอาการ ค้นหาสาเหตุของอาการปวดท้องที่แน่ชัด และเตรียมวางแผนการรักษาที่เหมาะสม โดยไม่ควรปล่อยไว้ เนื่องจากอาการปวดท้องอาจเกิดจากรอยโรคที่สามารถพัฒนาความรุนแรงไปเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารในอนาคตได้
ปรับพฤติกรรมการกิน เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ให้ห่างไกลโรคกระเพาะอาหาร
การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นโดยส่วนมาก มักมีความสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ขาดความสมดุล ดังนั้นการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเสียใหม่ให้ถูกสุขลักษณะจะช่วยลดความเสี่ยง เลี่ยงการกระตุ้นให้เกิดปัญหาสุขภาพได้อย่างยั่งยืน
หลีกเลี่ยงความเครียด
หลีกเลี่ยงการทานอาหารรสจัด และมีกรดสูง
ทานอาหารตรงเวลา เลี่ยงการทานอาหารแล้วเข้านอนทันที
ทานอาหารในปริมาณและสัดส่วนที่อิ่มพอดี โดยคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการเป็นสำคัญ
เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบ เลือกทานอาหารที่ปรุงร้อน สด ใหม่
ระมัดระวังการทานยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลานาน
หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
“ไม่ต้องรอให้มีอาการ การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
สามารถคัดกรองความเสี่ยงของโรคได้”