เช็กให้ดี...เป็นแค่ถุงน้ำรังไข่หรือมะเร็ง
ปวดท้อง นับเป็นอาการยอดฮิตของสาวๆ ยิ่งช่วงมีประจำเดือนก็มักจะมีอาการปวดท้องมากเป็นพิเศษ แต่ทราบหรือไม่ว่า... อาการปวดท้องช่วงมีประจำเดือนไม่ใช่เรื่องปกติซะทีเดียว เพราะมันอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค “ถุงน้ำในรังไข่” ก็เป็นได้
ถุงน้ำรังไข่ คืออะไร?
แม้ว่าถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ที่รังไข่ จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในช่วงของการมีรอบเดือนโดยไม่เป็นอันตราย คือเมื่อรอบเดือนหมดไปถุงน้ำก็จะยุบหายไปได้เองตามธรรมชาติแบบไม่ต้องผ่าตัดรักษา แต่ก็มีถุงอีกชนิดหนึ่ง คือเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดที่เป็นโรค ลักษณะถุงน้ำจะมีขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ มีของเหลวอย่างเลือดหรือหนองขังอยู่ภายใน แบบนี้ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพราะหากปล่อยทิ่งไว้ก็จะทำให้ปวดท้องรุนแรงจนเดินไม่ได้ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น หากถุงน้ำรังไข่แตกก็มักจะทำให้มีพังผืดในท้อง ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ลามไปถึงการมีลูกยาก หรือถ้าถุงน้ำมีการบิดขั้วเกิดขึ้น อาจทำให้ต้องรับทำการผ่าตัดแบบเสียรังไข่ข้างนั้นไปเลยก็ได้
ถุงน้ำรังไข่...ใช่มะเร็งหรือเปล่า? ตรวจได้
ถึงแม้ว่าถุงน้ำรังไข่ จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ค่อนข้างน้อย แต่แพทย์ก็ต้องระวังและรอบคอบในการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือการอัลตราซาวด์พบลักษณะของถุงน้ำขอบไม่เรียบ มีก้อนเนื้อตันภายใน ตรวจพบน้ำในช่องท้อง และถ้าแพทย์สงสัย อาจจะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมในส่วนของมะเร็งต่อไป
ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่มี 3 ประเภท
1.ถุงน้ำที่เกิดขึ้นได้เองตามฮอร์โมน ในร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลง (Functional Cyst ) คือ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิด จากการทำงานตามปกติของรังไข่เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของฝ่ายหญิง จะเป็นถุงน้ำที่โตขึ้นเองจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หลังจากนั้นถุงน้ำนี้ก็จะค่อยๆ ยุบตัวไปเอง
2.เนื้องอกรังไข่ (Ovarian Tumor) คือ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง) หรือ ชนิดร้ายแรง (มะเร็ง) ก็ได้ โดยมากเนื้องอกแต่ละชนิดมักจะมีลักษณะเฉพาะที่พอจะบอกได้ว่าเป็นชนิดใด เช่น Dermoid Cyst (ถุงน้ำเดอร์มอยด์) ซึ่งภายในถุงน้ำมักจะมีน้ำ, ไขมัน เส้นผม กระดูกและฟัน เมื่อเอกซเรย์ดูหรือตรวจอัลตราซาวด์ก็มักจะบอกได้ว่าเป็นเนื้องอกชนิดนี้ส่วนเนื้องอกชนิดที่เป็นมะเร็งบางชนิด จะมีการสร้างสารเคมีที่ตรวจพบว่ามีปริมาณสูงมากๆ ในกระแสเลือดได้ เช่น CA 125 ดังนั้นการตรวจเลือดก็สามารถบ่งบอกล่วงหน้าได้ว่าอาจจะเป็นมะเร็งชนิดนี้
3.ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) คือ ถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่เกิดขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีรอบเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกที่เกาะอยู่ที่รังไข่จะทำให้มีการอักเสบที่รังไข่ กลายเป็นถุงน้ำที่มีของเหลวภายในคล้ายเลือดเก่าๆ ข้นๆ สีคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)
มาเช็กกันหน่อย สัญญาณเตือนแบบไหนที่มาพร้อมความเสี่ยงถุงน้ำรังไข่?
1.หน้าท้องโตขึ้นผิดปกติ
2.มีอาการปวดท้องน้อย และมักปวดช่วงมีประจำเดือน
3.ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากขั้วถุงน้ำรังไข่บิดหรือแตก
4.รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากการที่ซีสต์โต และไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
5.ประจำเดือนมามาก หรือมากะปริบกะปรอยผิดปกติ มีอาการปวดที่รุนแรงมากขึ้นทุกเดือน
วิธีการตรวจเช็กอาการปวดท้องกับโรคถุงน้ำรังไข่
ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไป หรือตรวจเพราะมีอาการปวดท้องน้อย ถ้าผู้ป่วยยังเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์มักจะตรวจโดยทำอัลตราซาวด์ที่ท้องน้อย โดยให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะ แต่ต้องให้มีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะมากๆ เสียก่อนจึงจะเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน บางรายอาจจำเป็นต้องตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนัก เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น ซึ่งหัวตรวจอัลตราซาวด์ที่ใช้ตรวจทางช่องคลอดหรือทวารหนักในปัจจุบันจะเป็นหัวตรวจเล็กขนาดเท่านิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือเท่านั้น ซึ่งจะไม่ทำให้ผู้รับการตรวจต้องรู้สึกเจ็บนอกจากแพทย์จะตรวจภายในและทำอัลตราซาวด์แล้ว การซักประวัติ สอบถามอาการที่ผิดปกติต่างๆ รวมถึงประวัติการมีประจำเดือนก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวินิจฉัยโรค
เมื่อพบว่ามีถุงน้ำรังไข่ จะรักษาอย่างไร?
กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิด Functional Cyst แพทย์ก็จะนัดตรวจติดตามว่าจะยุบไปเองหรือไม่ บางรายแพทย์อาจให้รับประทานยาแล้วนัดมาตรวจซ้ำ ถ้าซีสต์ไม่ยุบหรือโตขึ้น อาจแสดงว่าไม่ใช่ Functional Cyst ก็จะให้การรักษา หรือผ่าตัดออกนั่นเอง
กรณีที่ต้องผ่าตัดฉุกเฉิน เช่น ถุงน้ำรังไข่แตก ถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด เหล่านี้เกิดได้ทั้ง Functional Cyst และเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก และต้องรับการผ่าตัดฉุกเฉิน ยกเว้นในรายที่เลือดออกในท้องไม่มาก อาจสังเกตอาการภายในโรงพยาบาล ถ้าอาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้
กรณีที่ต้องผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน เมื่อแพทย์ตรวจจนมั่นใจแล้วว่าเป็นซีสต์ที่รังไข่ชนิดที่ไม่ใช่ Functional Cyst เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ขนาดใหญ่ หรือมีผลต่อการมีบุตรยาก, ซีสต์ที่เป็นเนื้องอกรังไข่ เป็นต้น แพทย์ก็จะวางแผนการรักษาว่าจะผ่าตัดอย่างไร เช่น ผ่าตัดเปิดหน้าท้องตามปกติ หรือใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้อง และจะผ่าตัดเลาะเอาซีสต์ออกอย่างเดียวดีหรือตัดรังไข่ หรือจำเป็นต้องตัดมดลูกด้วยหรือไม่ เหล่านี้ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความจำเป็นที่จะมีบุตรได้อีก เป็นต้น
การผ่าตัดผ่านกล้อง ตัวช่วยการกำจัดถุงน้ำรังไข่ แผลหายไว ฟื้นตัวเร็ว
การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ผ่านกล้อง (Laparoscopic surgery) เป็นการเจาะผ่านช่องท้องประมาณ 4 จุด เพื่อสอดอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กเข้าไปบันทึกภาพ และส่งภาพมายังจอรับซึ่งทำหน้าที่แทนตาของแพทย์ นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือเล็กๆ ที่ช่วยในการผ่าตัด เช่น เครื่องมือจับเนื้อเยื่อ เครื่องมือจี้ห้ามเลือด เครื่องมือตัดและเย็บ การผ่าตัดผ่านกล้องนี้ยังสามารถเข้าไปถึงจุดเล็กๆ ที่มือแพทย์ไม่สามารถเข้าไปได้ จึงกระทบกระเทือนอวัยวะภายในน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และแผลยังมีขนาดเล็กเพียง 0.5-1 เซ็นติเมตรเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน
ทั้งนี้โรคที่พบได้บ่อยเกี่ยวกับความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของผู้หญิงนั้นมีอยู่มาก ทั้งมดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ ปากมดลูก ช่องคลอด ซึ่งล้วนแต่เป็นโรคที่เราต้องใส่ใจมากๆ ก่อนที่จะลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ผู้หญิงทุกคนจึงต้องหมั่นดูแลตัวเอง สังเกตอาการ และเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี เพราะการพบโรคเร็วจะช่วยให้การรักษามีโอกาสหายขาดสูง
บทความโดย
พญ.ถนอมศิริ สติฐิต
สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน มะเร็งนรีเวช (Onco gynecologist)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร 02-1500-900
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset