รู้ให้ไว สุขภาพสายตา ลูกรักนั้นสำคัญ
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
14-ก.ย.-2565
รู้ให้ไว สุขภาพสายตา ลูกรักนั้นสำคัญ

          สายตาผิดปกติ นั้นแบ่งเป็น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ซึ่งสามารถพบสายตาผิดปกติ 2 อย่างร่วมด้วยกันได้ เช่น สายตาสั้นและสายตาเอียง หรือสายตายาวและสายตาเอียง ในกรณีผู้สูงอายุปัญหาสายตาสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากการเสื่อมของอวัยวะตามช่วงวัย

สายตา

1. สายตาสั้น
         
          องค์การอนามัยโลก WHO มีการคาดการณ์ ว่าในปี 2050 จะมีอุบัติการณ์ของผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นเพิ่มขึ้นถึง 5,000 ล้านคน โดยพบว่าในเอเชียมีสัดส่วนของผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมากถึง 80-90 % ด้วยเหตุนี้ เชื้อชาติจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ ที่ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้น

          นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจาก ประวัติบุคคลในครอบครัวมีภาวะสายตาสั้น (พันธุกรรม) โรคทางตาบางโรค เช่น เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์บริเวณจอตา ซึ่งทำให้มีแนวโน้มของการสายตาสั้นที่สูงและจำเป็นต้องสวมแว่นสายตา ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้


2. สายตายาว
     
        ในเด็กช่วงแรกเกิด – 5 ขวบ ลูกตาของเด็กจะมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก เนื่องจากขนาดที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเวลาแสงตก แสงจะตกได้ไม่ถึงจุดรับภาพชัด จะเลยจุดรับภาพไปทำให้เด็กจะมีปัญหาสายตายาว โดยสายตายาวจะมีช่วงระยะค่าสายตาที่ถือเป็นค่าสายตายาวที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก และหากว่ามีค่าสายตาที่เกินเกณฑ์มาตรฐานจะส่งผลทำให้เกิดตาเข หรือตาขี้เกียจตามมาได้

3. สายตาเอียง

        เนื่องจากลูกตา จะมีลักษณะคล้ายทรงกลม ในภาวะปกติเมื่อเวลาแสงตกลงมาจะรวมกันอยู่ตรงที่จุดรับภาพเพียงจุดเดียว โดยในผู้ที่มีภาวะสายตาเอียงนั้น เมื่อเวลาแสงเข้ามาในตา แสงจะตกลงมาคนละแกน หรือคนละจุดกันกับจอประสาทตา จึงทำให้เวลามองเห็นจะมองเห็นเป็นภาพซ้อน เบลอ มองใกล้และไกลไม่ชัด

        โดยในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ และพบว่าในเด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ หรือชอบขยี้ตา ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นทำให้เกิดภาวะสายตาเอียงได้ ทั้งนี้หากตรวจพบว่าเด็กมีภาวะสายตาเอียง สามารถปรับการมองเห็นได้ด้วยการสวมแว่นสายตา และเพื่อป้องกันลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ ตามมา

4. สายตาเข หรือ ตาเหล่
       
        มีสาเหตุการเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ในครอบครัวที่มีประวัติตาเข หรือเป็นผลกระทบจากภาวะสายตาผิดปกติ และไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น สายตายาวมองไม่ชัด ก็จะเกิดการเพ่งเมื่อต้องใช้สายตา เพื่อจ้องมองวัตถุในระยะใกล้ๆ ตามากขึ้น เพื่อให้มองได้ชัดขึ้น เช่นนี้จึงทำให้เกิดตาเขเข้าตามมา


       การทดสอบ ตาเข หรือตาเหล่ เบื้องต้นสามารถทำได้ด้วยการถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์มือถือ พร้อมเปิดแฟลช โดยให้แสงไฟอยู่ห่างจากหน้าเด็กประมาณระยะ 1 ฟุต จากนั้นซูมเพื่อขยายภาพตาดำ เพื่อดูว่าแสงไฟที่เห็นตกที่ตรงตาดำหรือไม่ หากแสงไฟไม่ตกที่ตรงกลางตาดำ แสดงว่าเด็กอาจมี ภาวะตาเข

       วิธีการรักษา สามารถทำได้ด้วยการสวมแว่นสายตา ปิดตา และการผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงและสาเหตุของการเกิดโรค ซึ่งจักษุแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาวางแผนเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมให้

ตาเข หรือตาเหล่ มีด้วยกัน 2 ประเภท คือ
  1. ตาเขซ่อนเร้น คือ จะมีอาการตาเขบางเวลา จะมีอาการเห็นไม่ชัด ต้องมีอะไรมาปิดตา เมื่อเปิดตาจะพบว่าตากลับมามองตรงได้ตามปกติ
  2. ตาเขจริง คือ สามารถมองจากภาย นอกจะรู้ได้เลยว่าตาเข ไม่สามารถมองตรงได้ ในช่วง 3 ขวบปีแรก จะพบปัญหาตาเขเข้า มากกว่า ตาเขออก และเมื่อเด็กอายุเพิ่มมากขึ้นในช่วงประถมวัยก็จะพบปัญหาสายตาที่ผิดปกติร่วมกับปัญหาสายตาเขออก ได้บ่อยมากว่าตาเขเข้า 
          ตาเขออก คือ ภาวะที่สายตาดำ กรอกออกมาตรงบริเวณหางตา หรือทางหู ไม่อยู่ตรงบริเวณตรงกลางตา และหากตาดำอยู่บริเวณจมูก จะเรียกว่า ตาเขเข้า

5. สายตาขี้เกียจ

          คือ ภาวะที่ประสิทธิภาพตา มีการมองเห็นที่ต่ำกว่าตาอีกข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง โดยเมื่อใช้แบบทดสอบอ่านค่าสายตา เด็กจะไม่สามารถอ่านตัวเลขได้ครบตามเกณฑ์มาตรฐาน

         ทั้งนี้ผู้ที่มีปัญหาสายตาขี้เกียจ จะไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่จะสามารถสังเกตได้จากภายนอก โดยในเด็กเล็กคุณพ่อ คุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่เด็กไม่มองจ้องหน้า หรือสิ่งของเมื่อยื่นเข้าไปใกล้ๆ เช่นนี้จึงแนะนำพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยคัดกรองปัญหาสุขภาพตาโดยละเอียดอีกอีกครั้ง

         วิธีการรักษา ต้องค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปัญหาสายตาขี้เกียจ เช่น หากเกิดจาก ภาวะปัญหาสายตาผิดปกติ สามารถแก้ไขได้ด้วยการสวมแว่นสายตา และหากเกิดจาก กล้ามเนื้อตาผิดปกติ อาจต้องพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด

สายตาสั้น

ลดความเสี่ยง เลี่ยงการเกิดปัญหาสายตาผิดปกติ

        ในปัจจุบันมีการใช้สมาร์ทโฟน เล่นเกมในมือถือ ทำให้เด็กมีการใช้สายตามากขึ้น จึงควรระมัดระวังในส่วนนี้ ทั้งนี้แนะนำในทุก 20 นาที เมื่อมีการใช้สายตา หรือใช้งานมือถือ ควรพักสายตาและมองไปในระยะไกลๆ เป็นระยะ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที เพื่อลดความเสี่ยง เลี่ยงการเกิดปัญหาสายตาผิดปกติ

        สำหรับเด็กที่มีปัญหาสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง และสายตาขี้เกียจ โดยส่วนมากเด็กจะมีอาการนำของปัญหาสุขภาพตาที่คุณพ่อ คุณแม่ สามารถสังเกตได้ เช่น หยีตาบ่อยๆ น้ำตาไหล ชอบเอียงคอ เอียงหน้า เหล่มอง

        ดังนั้นการตรวจสุขภาพตาในเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากตรวจเจอเร็วก็สามารถรักษาได้ในทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้นอกจากจะทำให้มีปัญหาในการมองเห็นแล้ว อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้




นายแพทย์ วิทวัส ทรัพย์ธนากร

บทความโดย
นายแพทย์ วิทวัส ทรัพย์ธนากร
จักษุแพทย์ด้านกล้ามเนื้อตา และจักษุวิทยาในเด็ก
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร

ตารางแพทย์ออกตรวจ

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
คลินิกหู ตา คอ จมูก
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร 
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5255

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset