ไส้ติ่ง คือ ส่วนของลำไส้ส่วนต้นที่มีการยื่นออกมาลักษณะเป็นติ่งเนื้อ ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกายแต่อย่างใด หากเกิดการอุดตันบริเวณภายในไส้ติ่งเนื่องจากอุจจาระ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอาการบวม อักเสบ ติดเชื้อ กลายเป็น โรคไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้ อีกทั้งไม่อาจคาดเดาได้ล่วงหน้า สามารถพบเจอได้บ่อย หากไม่ได้รับการรักษาอาการจะอักเสบรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะไส้ติ่งแตก เช่นนี้จะส่งผลให้มีการติดเชื้อรุนแรงแพร่กระจายภายในช่องท้อง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้
ลักษณะอาการ ในระยะแรกเริ่มผู้ป่วยจะมีอาการปวดบริเวณกลางท้อง บอกตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน ระยะถัดมาจะมีอาการปวดที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น กดเจ็บท้องด้านขวาล่าง ซึ่งเป็นตำแหน่งของไส้ติ่ง ร่วมกับมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีไข้
การวินิจฉัย
ศัลยแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกาย ร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้อง (Ultrasound ) การตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นความถี่สูง โดยการตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัด หากผู้เข้ารับการตรวจมีอาการท้องอืด หรือลมในช่องท้องมาก จะทำให้มองเห็นความผิดปกติของอวัยวะภายในได้ไม่ชัดเจน อาจพิจารณาการตรวจด้วย การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT SCAN) ซึ่งจะมีความละเอียดแม่นยำสูง
วิธีการรักษา
1. ผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
เป็นการผ่าตัดวิธีมาตรฐานแบบดั้งเดิม เปิดแผลบริเวณตำแหน่งไส้ติ่ง ซึ่งจะมีแผลผ่าตัดประมาณ 2 นิ้ว ใช้ระยะเวลานอนพักฟื้นหลังผ่าตัดในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน
2. ผ่าตัดส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery)
การผ่าตัดด้วยวิธีนี้มีข้อดี คือ เจ็บแผลน้อย ฟื้นตัวไว ใช้ระยะเวลานอนพักฟื้นประมาณ 2 วัน มีรอยแผลบริเวณสะดือ 1 แผล ขนาด 1-2 ซม. และบริเวณท้องน้อย 2 แผล ขนาด 0.5 ซม.
การดูแลสุขภาพหลังผ่าตัด แนะนำทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ช่วงแรกอาจเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย สามารถออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายได้ เพื่อกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้กลับมาทำงานเป็นปกติ โดยในช่วง 2 สัปดาห์แรก หลังการผ่าตัดควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก เพื่อป้องกันการฉีกขาดของแผล และปวดแผลหลังผ่าตัด
“ อย่าปล่อยผ่านอาการปวดท้อง
เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนครั้งสำคัญของ ไส้ติ่งอักเสบ ”
นพ.ธีรพงษ์ ทิพยกานนท์
ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร