โรคไส้เลื่อน ปล่อยไว้อาจอันตราย รักษาได้ไม่ต้องเลื่อนเวลา
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
16-ส.ค.-2567

โรคไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ลำไส้เลื่อนออกนอกช่องท้องโดยผ่านผนังช่องท้องที่บอบบาง ตำแหน่งที่ลำไส้จะเลื่อนออกนอกช่องท้องมีหลายแห่ง เช่น บริเวณขาหนีบ (Groin Hernia) ผนังหน้าท้อง (Abdominal Hernia) โรคไส้เลื่อนนับเป็นอีกปัญหาสุขภาพที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตที่ไม่ควรมองข้าม และปล่อยทิ้งไว้

 

อาการของโรคไส้เลื่อน

มีการดันของอวัยวะปรากฏเป็นก้อนตุงออกมา ซึ่งถ้ามีอาการไม่มาก คนไข้มักจะดันอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้าช่องท้องเองได้ อาจมีอาการปวดขณะมีก้อนยื่นออกมา สาเหตุการปวดนี้เกิดจากขอบถุงไส้เลื่อนบริเวณผนังหน้าท้องมีการรัดอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะลำไส้ และโอเมนตัม ซึ่งก็คือชั้นเยื่อบุช่องท้องที่หุ้มรอบอวัยวะภายในช่องท้องนั้น

 

อาการปวดดังกล่าวจะเริ่มจะทุเลาลงเมื่อมีการดันอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้าช่องท้อง กรณีที่เกิดการโป่งของผนังหน้าท้อง และไม่สามารถดันอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้าช่องท้องได้ (incarcerated hernia) จะมีอาการปวดมากบริเวณไส้เลื่อน เนื่องจากอวัยวะถูกขอบถุงไส้เลื่อนรัด โดยเฉพาะลำไส้จะเกิดการบวมและขาดเลือด เมื่อเกิดภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วนเพื่อป้องกันภาวะลำไส้ตายจากการขาดเลือด (strangulated hernia)

 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนได้แก่

1. อายุที่มากขึ้น ทำให้เกิดความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง โดยพบว่าผู้ชายอายุมากกว่า 75 ปี มีไส้เลื่อนขาหนีบ ประมาณ 50 %

2. ความผิดปกติของผนังหน้าท้องแต่เดิม ซึ่งมักจะมีอาการช่วงวัยรุ่นหรือวัยทำงาน

3. เพศชายจะพบการเกิดไส้เลื่อน โดยเฉพาะไส้เลื่อนขาหนีบได้มากกว่าเพศหญิงประมาณ 7 เท่า

4. เกิดการเพิ่มแรงดันช่องเรื้อรังจาก

เบ่งถ่ายท้องผูกเรื้อรัง (chronic constipation)

เบ่งปัสสาวะจากภาวะต่อมลูกหมากโต (Benign prostatic hypertrophy) เป็นเวลานาน

ไอเรื้อรัง เช่น จากโรคปอด หรือถุงลมโป่งพอง (COPD) โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis)




Insertion of mesh into preperitoneal space. (Courtesy Anne Erickson, CMI.)

โรคไส้เลื่อนผนังหน้าท้อง (Abdominal wall or Ventral hernia)

คือโรคที่อวัยวะภายในบางส่วน ที่พบได้บ่อยคือผนังลำไส้ โดยเฉพาะลำไส้เล็ก และโอเมนตัม (omentum) ซึ่งคือเนื้อเยื่อไขมันสองชั้นที่ปกคลุมอวัยวะในช่องท้องเพื่อเป็นส่วนโครงสร้างยึดอวัยวะต่างๆ ในช่องท้องเข้าด้วยกัน เกิดการเคลื่อนตัวหรือดันออกจากตำแหน่งเดิม ผ่านรู หรือ ผนังหน้าท้องซึ่งประกอบไปด้วยชั้นกล้ามเนื้อ (muscle) และแผ่นเอ็นผังผืด (fascia) ที่บางลง ไปอยู่ยังอีกตำแหน่ง นอกผนังหน้าท้อง ซึ่งจะมีถุงไส้เลื่อน ชั้นกล้ามเนื้อที่บาง ชั้นไขมัน และผิวหนังคลุมอวัยวะภายในดังกล่าวอยู่

 

ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia)

พบได้บ่อยที่สุดประมาณ 75% ของไส้เลื่อนทั้งหมด ในผู้ชายมักคลำได้ก้อนบริเวณขาหนีบ หรือ ถุงอัณฑะ เกิดจากความอ่อนแอของผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบ การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องนั้น คนไข้จะมีแผลเล็กๆ เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว จึงเป็นอีกทางเลือกของการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้อง (Laparoscopic Inguinal Herniorrhaphy) ถือเป็นหนึ่งกระบวนการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดอีกทางหนึ่งที่ได้ผลดี โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดปูตาข่ายปิดรูไส้เลื่อนผนังหน้าท้องผ่านกล้อง ทำให้เกิดแผลผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณใต้สะดือ และสามารถใช้สอดอุปกรณ์เพื่อเข้าไปซ่อมไส้เลื่อนจากทางด้านในผนังหน้าท้อง และเสริมแผ่นตาข่ายสามมิติสังเคราะห์ เพื่อเสริมความแข็งแรง และปิดรูไส้เลื่อน


การผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบ นอกช่องท้อง Totally extraperitoneal repair (TEP)

เป็นการผ่าตัดผ่านช่องว่างระหว่างหลังชั้นกล้ามเนื้อหน้าท้องกับเยื่อหุ้มช่องท้อง วิธีนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดในการผ่าตัดผ่านกล้อง เพราะไม่เข้าช่องท้อง ทําให้เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า การผ่าตัดชนิดนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย ลดการเป็นซ้ำ ทั้งนี้ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดผ่านกล้อง ต้องมี learning curve หรือมีประสบการณ์การผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวระหว่าง 50-100 รายเป็นต้นไป ถึงจะมีผลลัพธ์การผ่าตัดที่ดี


การผ่าตัดซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบ ในช่องท้อง
Transabdominal preperitoneal repair (TAPP)

ใช้วิธีการดึงถุงไส้เลื่อนกับอวัยวะในถุงไส้เลื่อนกลับเข้ามาในช่องท้อง แล้วทำการปูตาข่ายนอกเยื่อหุ้มช่องท้องต่อไป โดยมีลักษณะแผลขนาดเล็ก 3 แผล บริวเวณใต้สะดือที่จะใส่กล้องเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. และแผลที่ใส่เครื่องมือยาว 0.5 ซม.ในกระบวนการผ่าตัดนั้น ศัลยแพทย์จะทำการขยายพื้นที่ระหว่างด้านหลังของผนังช่องท้องและเยื่อหุ้มช่องท้อง เพื่อมองเห็นรูไส้เลื่อนจากทางด้านหลังผนังช่องท้องได้อย่างชัดเจนซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการรักษาไส้เลื่อนโดยการผ่าตัดทั่วไปแบบเปิด จากนั้นแพทย์จะใช้แผ่นตะแกรงสังเคราะห์ ที่ปัจจุบันพัฒนาให้เข้ากับสรีระด้านในผนังหน้าท้อง (anatomical 3D mesh) ปูคลุมกล้ามเนื้อและหนังหน้าท้องที่มีไส้เลื่อน แล้วจึงตรึงด้วยหมุดเพื่อยึดติดแผ่นตะแกรงให้แน่นแข็งแรง โดยหมุดที่ใช้ตรึงนั้นมีให้เลือกหลากหลาย เช่น วัสดุทำมาจากโลหะ วัสดุที่ละลายได้ และนวัตกรรมล่าสุดคือ การนำกาว (fibrin glue) มาใช้ตรึง ซึ่งได้ผลดี อีกทั้งยังลดอาการปวดได้มากกว่าการใช้วัสดุชนิดอื่นๆ






Insertion of mesh into preperitoneal space. (Courtesy Anne Erickson, CMI.)

การผ่าตัดผ่านกล้องดีอย่างไร

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการผ่าตัดผ่านกล้อง กับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบปกตินั้นพบว่า การผ่าตัดผ่านกล้องสำหรับการรักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนชนิดต่างๆ อาทิ กลุ่มที่เป็นซ้ำไส้เลื่อนขาหนีบ (recurrence case) หรือในกลุ่มที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบทั้งสองข้าง (bilateral groin hernia) ส่งผลดีกว่าวิธีการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง คือ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไว อาการเจ็บปวดแผล หรือการบอบช้ำหลังผ่าตัดมีเพียงเล็กน้อย ระยะเวลานอนพักฟื้นอยู่โรงพยาบาลเพียง 2-3 วัน ระยะเวลาการพักฟื้นที่สั้นลง ทำให้สามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตปกติได้เร็วกว่าเดิม

 

วิธีดูแลตัวเองก่อนการผ่าตัด

1.รักษาโรคประจำตัวเดิมที่มีอยู่ให้ดีก่อนผ่าตัด เช่น รักษาท้องผูก ไม่ควรเบ่งอุจจาระ รักษาต่อมลูกหมากโต ไม่ควรเบ่งปัสสาวะ ไม่ควรมีอาการไอรุนแรงเรื้อรังในกลุ่มโรคถุงลมโป่งพองหรือหลอดลมอักเสบ เพราะถ้ามีความดันในช่องท้องเพิ่มก็มีโอกาสที่จะทำให้รอยเย็บ หรือตาข่ายที่ใส่ไว้มีการเคลื่อน จะทำให้มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากขึ้น

 

2.ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างรอรับนัดการผ่าตัดรักษา ควรระวังป้องกันไม่ให้ไส้เลื่อนเกิดภาวะติดดันกลับไม่ได้ (incarcerated hernia) เช่น การไม่ยกของหนัก การไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ การใส่อุปกรณ์ประเภทสายรัด หรือกางเกงที่ช่วยกระชับไม่ให้ไส้เลื่อนโป่งตุงออกมา

 

วิธีดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด

  • งดยกของหนัก
  • งดการออกกำลังกายหนัก เช่น การกระโดด ยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกล้ามเนื้อท้องในช่วง 1 เดือนแรก
  • ควรลดน้ำหนักในผู้ที่มีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน การระวังไม่ให้มีน้ำหนักเกิน
  • การไม่เบ่งถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ หรือไอจามรุนแรงเป็นประจำ

 

การป้องกันและลดความเสี่ยงการเป็นไส้เลื่อน

  • รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีกากใย อย่าง ผัก ผลไม้ ธัญพืช
  • ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • ไม่สูบบุหรี่











สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset