โรคริดสีดวง แค่เปลี่ยนพฤติกรรม ก็ลดเสี่ยงได้
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
15-ธ.ค.-2565

โรคริดสีดวง แค่เปลี่ยนพฤติกรรม ก็ลดเสี่ยงได้

โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมถึงมีการหย่อนยานของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนัก

ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวง
สุขลักษณะนิสัยการขับถ่ายที่ผิดปกติ เช่น ท้องผูก หรือ ท้องเสีย การเสื่อมลงของเส้นเลือดและกล้ามเนื้อในผู้สูงอายุ การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยน้อย หญิงตั้งครรภ์ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก  อุปนิสัยการเบ่งอุจจาระอย่างมากเพื่อพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายให้ออกไป ชอบใช้ยาสวนอุจจาระ หรือยาระบายพร่ำเพรื่อ ภาวะโรคตับแข็งทำให้เลือดดำไหลเข้าตับไม่ได้ ส่งผลให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง การเพิ่มของความดันภายในช่องท้องเป็นเวลานาน เช่น การยกของหนักเป็นประจำ เป็นต้น


อาการของริดสีดวง
- มีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระหรือหลังการอุจจาระ
- มีติ่งหรือหรือก้อนที่ทวารหนักอาจมีอาการคัน ปวด เจ็บ บริเวณที่เป็นริดสีดวง

การวินิจฉัยโรคริดสีดวง
1.
สอบถามประวัติของผู้ป่วย เช่น มีเลือดออกขณะถ่ายอุจจาระหรือหลังถ่ายอุจจาระ มีก้อนเนื้อที่ทวารหนัก โดยอาจจะมีอาการปวดหรือไม่ปวดก็ได้
2. ตรวจร่างกาย
- ตรวจดูขอบทวารหนัก แพทย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เพราะส่วนใหญ่จะมีติ่งออกมาอย่างเห็นได้ชัดอยู่แล้ว
- ตรวจของทวารหนักด้วยนิ้วมือ เพื่อแยกโรคอื่น ๆ เช่น ก้อน หรือแผลในทวารหนัก
- การใช้กล้องขนาดเล็กส่องตรวจในทวารหนัก
- การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ โดยจะทำในผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคในลำไส้ใหญ่

ภาวะแทรกซ้อน
เลือดออก อาจจะทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง หรือภาวะขาดเลือดจนความดันโลหิตต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย ได้
ลิ่มเลือดอุดตันในหัวริดสีดวงทวาร ติ่งเนื้อริดสีดวงเป็นก้อนเพราะมีก้อนเลือดอุดตันจับตัวกันเป็นก้อนอยู่ภายใน จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด
การบีบรัดของรูหูดทวารหนัก ทำให้เกิดภาวะขาดเลือดในหัวริดสีดวง เมื่อติ่งเนื้อไม่มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นจะทำให้เกิดภาวะขาดเลือดและเกิดการหดตัวของหูรูดทวารหนักจนเกิดอาการบวม อักเสบ และเน่ามีกลิ่นเหม็น


การรักษาริดสีดวง
การรักษาริดสีดวงเบื้องต้น คือ
1. ระมัดระวังอย่าปล่อยให้ท้องผูก ควรดื่มน้ำมาก ๆ เน้นกินผักและผลไม้ ถ้ายังท้องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย อีแอลพี ดีเกลือ หรือสารเพิ่มกากใย
2. หากปวดมากเนื่องจากมีการอักเสบ ให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่น วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 15 – 30 นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารจนอาการบรรเทา ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 7 – 10 วัน
3. ถ้าผู้ป่วยมีอาการซีด อาจจะพิจารณาให้ทานยาบำรุงเลือดเสริมธาตุเหล็ก
ถ้าหากเป็นมากก็อาจจะพิจารณารักษาด้วยวิธี ดังนี้
- การฉีดยา โดยจะทำการฉีดยาเข้าไปในชั้นใต้เยื่อบุ เพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อไป วิธีนี้สะดวก และไม่เจ็บปวด ส่วนใหญ่มักจะฉีดสัปดาห์ละครั้ง ประมาณ 3 – 5 ครั้ง สามารถช่วยให้หายได้ 60 %
- การใช้ยางรัด เพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อ
- การรักษาโดยการผ่าตัด โดยส่วนใหญ่จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะที่ 3 – 4 เพราะติ่งเนื้อจะมีขนาดใหญ่ แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บ หรือผูกหัวริดสีดวง นอกจากนี้ยังมีการใช้เครื่องมือตัดเย็บเพื่อทำให้ติ่งเนื้อกลับเข้าไปในลำไส้ตรงอีกด้วย

การป้องกันตนเองจากริดสีดวง
1. รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงมีส่วนช่วยให้ระบบขับถ่ายสามารถขับถ่ายได้ลื่นไหล ไม่ติดขัดจนทำให้เกิดโรค คือ
- ธัญพืชชนิดต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวบาร์เล่ย์ โฮลวีท เป็นต้น
- ผักตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดขาว เป็นต้น
- ถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ เป็นต้น
2. ควรดื่มน้ำวันละ 8 -10 แก้ว เพื่อให้ขับถ่ายได้ง่าย
3. หลีกเลี่ยงการทานอาหารแปรรูป หรือของหมักดองทุกชนิด เช่น เบค่อน ชีส ปลาร้า หอยดอง ปลาส้ม เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากเครื่องดื่มเหล่านี้มีผลต่อลำไส้ ทำให้เกิดอาการท้องผูก อุจจาระไม่ออก ก่อให้เกิดริดสีดวงอักเสบ หรือบวมได้
5. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เช่น อาหารรสเผ็ด เพราะจะมีผลต่อการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่ายโดยตรง
6. หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย เป็นต้น
7. หลีกเลี่ยงผักและผลไม้บางชนิด เช่น ทุเรียน ละมุด สะตอ ชะอม กระถิน เป็นต้น เพราะผักที่มีฤทธิ์ร้อน หรือผลไม้ที่มีรสหวานมากอาจจะส่งผลให้ริดสีดวงอักเสบได้
8. หลีกเลี่ยงอาหารทะเลทุกชนิดระหว่างการรักษาริดสีดวง
9. หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นของทอด เพราะย่อยยาก และอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำส่งผลให้เกิดความดันในเลือดสูง มีผลต่อริดสีดวงได้

อย่างไรก็ตาม ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมเพื่อให้ห่างไกลจากโรคริดสีดวงทวาร แต่หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นแล้วก็ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ให้แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่โรคร้าย



บทความโดย

พญ.นปภา ฉายอำพร

ศัลยแพทย์
โรงพยาบาลเปาโล  เกษตร

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

โรงพยาบาลเปาโล เกษตร โทร. 02 1500 900
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset