ไอกรนอันตรายถึงชีวิต ! ทำไมเด็กเล็กถึงต้องระวัง ?
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
13-พ.ย.-2567

ไอกรนอันตรายถึงชีวิต ! ทำไมเด็กเล็กถึงต้องระวัง ?

ไอไม่หยุด หายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณของโรคไอกรน! โรคติดเชื้อที่แพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ทำให้เด็กไอรุนแรงจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้!

โรคไอกรนอันตรายอย่างไร
?
😷อันตรายถึงชีวิต : ในเด็กเล็ก อาจทำให้หายใจลำบาก หยุดหายใจ ชัก หรือเสียชีวิตได้
🗣️แพร่กระจายง่าย : ติดต่อผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม
💊รักษายาก : อาการไออาจยาวนานหลายเดือน

โรคไอกรนเกิดจากอะไร ?
ไอกรนเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยจากการไอหรือจาม การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทำให้เชื้อแพร่สู่คนอื่นได้ง่าย โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานที่ทำงาน หรือที่สาธารณะทั่วไป

อาการของโรค แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะเริ่มต้น : คล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ต่ำ น้ำมูกไหล ไอเล็กน้อย ประมาณ 1-2 สัปดาห์

2. ระยะไอรุนแรง : ไอเป็นชุด ๆ มีเสียงหายใจเข้าลึก ๆ คล้ายเสียง "วู้ป" และอาจอาเจียนตามมา คงอยู่ประมาณ 2-6 สัปดาห์

3. ระยะฟื้นตัว : อาการไอจะค่อย ๆ ลดลง แต่ยังคงมีไอเป็นช่วง ๆ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเป็นเดือน

คนที่เป็นโรคไอกรนจะไอเฉลี่ยยาวนาน 3-4 เดือน และยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ซี่โครงร้าว เส้นเลือดในตาแตก ปวดหลัง และกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ยิ่งเด็กเล็กเท่าไรยิ่งเสี่ยงต่อการหนัก เช่น ปอดอักเสบ หยุดหายใจ หรืออาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็กทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ดังนั้นหากเด็กมีอาการไอรุนแรง หรือไอเรื้อรังที่ไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์

นอกจากเด็กเล็กแล้ว ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยเอชไอวี ซึ่งร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ยากขึ้น ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หรือประจำตัวเดิมมีอาการกำเริบ เช่น โรคหัวใจได้อีกด้วย

       สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ การติดเชื้ออาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย หรือมีอันตรายถึงเสียชีวิต

ไอกรน


ป้องกันไอกรนได้ง่ายๆ ด้วยวัคซีน! ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

👶สำหรับเด็ก  รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ให้ครบตามกำหนด เพื่อปกป้องลูกน้อยจากโรคร้าย โดยวัคซีนไอกรนจะรวมอยู่ในวัคซีนพื้นฐานของเด็กเล็กอยู่แล้ว
👩‍🦱สำหรับวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่ได้รับวัคซีนครบและได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นแล้ว อาการมักเบาลง หรืออาจไม่มีอาการเลย จึงควรรับวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี
🤰สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง  ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจฉีดวัคซีน

นอกจากนี้ เรายังสามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ปิดปากเวลาไอหรือจาม ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงคนป่วย โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาด และหากสงสัยว่าตัวเองหรือบุตรหลานเป็นโรคไอกรน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาที่ถูกต้องนะคะ แพทย์จะให้คำแนะนำและดูแลอย่างใกล้ชิด



บทความโดย
พญ. รติ ดิวิทยา
กุมารเวชศาสตร์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลเปาโล เกษตร



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5121
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset