ดูแลตัวเองอย่างไร ให้ห่างไกลจาก “โรคของถุงน้ำดี”
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
01-มี.ค.-2562
ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะขนาดเล็กในระบบย่อยอาหาร ทำหน้าที่เก็บน้ำดีที่ตับผลิตขึ้น เมื่อใดก็ตามที่เรากินอาหารมันๆ เข้าไป ถุงน้ำดีจะปล่อยน้ำดีออกมาคลุกเคล้ากับอาหาร ทำให้ไขมันแตกตัวเป็นหยดเล็กๆ พร้อมที่จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นหน้าที่ของน้ำดีก็คือย่อยไขมันที่เรากินเข้าไปนั่นเอง

แต่บางครั้งถุงน้ำดีอาจทำงานบกพร่องและเกิดความผิดในถุงน้ำดีได้เหมือนกัน โรคที่เกิดในถุงน้ำดีมักเกิดในผู้หญิง คนที่มีน้ำหนักมาก คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง รวมถึงอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ได้เช่นกัน


ความผิดปกติของถุงน้ำดีที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง

นิ่วในถุงน้ำดี

เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย มักจะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง อาหารไม่ย่อย แน่น อึดอัด จุก เสียด อาจมีอาการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน หรือเป็นสาเหตุให้ตับอ่อนอักเสบ ซึ่งถ้ามีอาการต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ควรทำการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกจะได้ผลดีที่สุด


ถุงน้ำดีอักเสบ

ในรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำดีเฉียบพลัน มักจะเกิดร่วมกับคนที่มีนิ่วในถุงน้ำดี จะเกิดอาการไข้สูง หนาวสั่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจมีคลื่นไส้อาเจียนและตาเหลืองร่วมด้วย บางครั้งก็จะหายไปได้เองเมื่อกินยาแก้อักเสบ แต่ก็มักจะกำเริบได้อีก เมื่อถุงน้ำดีอักเสบบ่อยครั้งเข้า มันก็จะไม่สามารถทำให้น้ำดีที่ไหลเข้ามาเข้มข้นขึ้น การย่อยไขมันก็จะมีปัญหา

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันการเกิดโรคของถุงน้ำดี

1. ลดน้ำหนัก

ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้สูง เนื่องจากปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีมีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดก้อนนิ่ว จึงควรลดน้ำหนักตัวเพื่อลดโอกาสเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และไม่ควรหักโหมลดน้าหนักอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อสารเคมีในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดก้อนนิ่วได้เช่นกัน

2. รักษาน้ำหนักตัว

ควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่อ้วนหรือผอมจนเกินไป โดยเลือกกินอาหารให้สมดุลและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ลดปริมาณพลังงานของอาหารที่รับประทานให้พอเหมาะ รวมทั้งทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ


3. กินอาหารที่ดี

ควรเลือกกินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ จำกัดหรือลดการกินอาหารที่มีไขมันหรือคอเลสเตอรอลสูง เนื่องจากอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันและมีกากใยต่ำจะทำให้เสี่ยงเกิดโรคในถุงน้ำดีได้

4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ให้น้อยลง จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในถุงน้ำดีได้

5. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและช่วยต้านโรคได้

ถ้าสงสัยว่าอาการผิดปกติที่ตัวเองเป็นอยู่อาจใช่โรคในถุงน้ำดี แม้จะไม่มีอาการแสดงเลย ก็ควรที่จะไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียด ส่วนใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็พยายามดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม ใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มากๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคของถุงน้ำดีได้

สอบถามรายละเอียด

คลินิกศัลยกรรม
อาคาร 2 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105