นายแพทย์สรศักดิ์ เอกอมรพันธ์

แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด

วุฒิบัตร

สาขาอายุรกรรมหัวใจและหลอดเลือด
วัน เวลา
จันทร์ 10:00 - 17:00
อังคาร 10:00 - 17:00
พุธ 10:00 - 20:00
พฤหัสบดี 10:00 - 20:00
ศุกร์ 10:00 - 17:00
เสาร์ 10:00 - 15:00

นพ.สรศักดิ์ เอกอมรพันธ์

อายุรแพทย์หัวใจและหลอดเลือด
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ.2544)
  • วุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางสาขาอายุรกรรม โรงพยาบาลศิริราช
  • วุฒิบัตรอนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลศิริราช

"การรักษาโรคทางอายุรกรรม ไม่ใช่การรักษาตามทฤษฎีอย่างเดียวมันเป็นศิลปะ ต้องรู้จักคิด วิเคราะห์และใช้เวลาซักถามคนไข้ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด การพูดคุยซักประวัติคนไข้อย่างละเอียดจะทำให้รู้ปัญหาของคนไข้ได้ตรงจุดมากขึ้น"

นพ.สรศักดิ์ เอกอมรพันธ์ เป็นแพทย์ที่ชอบการค้นคว้าหาคำตอบมากกว่าการท่องจำ ทำให้ทุกการรักษา คุณหมอจะมุ่งมั่นในการค้นหาโรคที่แท้จริง การซักถามคนไข้จึงสำคัญไม่แพ้ผลการตรวจจากห้องแล็บ คือไม่ใช่คนไข้ปวดท้องมาก็ตรวจหรือถามแต่เรื่องท้อง ไม่ซักถามอย่างอื่นเลย เพราะโรคทางอายุรกรรมมีความกว้างและหลากหลาย หากข้อมูลที่ซักได้ไม่กว้างและครอบคลุมพอ การส่งตรวจผิดตรวจถูกก็จะส่งผลเสียต่อคนไข้ทั้งด้านสุขภาพ เวลา และค่าใช้จ่าย คุณหมอบอกว่า... "การเป็นอายุรแพทย์ที่ดีต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลเพื่อบอกทางที่ถูกต้อง การที่หมอถามเยอะๆ ก็เป็นการตีกรอบโรคให้แคบลงเรื่อยๆ การส่งตรวจแล็บของคนไข้จะได้ไม่เยอะเกินไป เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่าย และพบโรคได้เร็ว ได้ตรง ได้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ"

เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด

เหตุที่คุณหมอสนใจด้านหัวใจและหลอดเลือด เพราะสมัยเรียนแพทย์ฝึกหัด คุณหมอเกิดความสงสัยว่า การที่คนไข้บอกว่าเจ็บหน้าอกหรือมีอาการหอบเหนื่อย ทำไมหมอแต่ละท่านวินิจฉัยโรคออกมาไม่ตรงกัน?? ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจเป็นสาขาที่มีการใช้ประวัติอาการทางคลินิกร่วมกับเครื่องมือส่งตรวจ ที่มีความทันสมัย, แม่นยำมากๆ สามารถตอบโจทย์ความอยากรุ้ของเรา คุณหมอจึงศึกษาต่อในอนุสาขาหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลศิริราช

โดยทั่วไปแล้วอาการที่เกี่ยวกับ “หัวใจ” เช่น คนไข้บอกเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก มันเป็นอาการกว้างๆ ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม ความสำคัญจึงอยู่ที่การเลือกการทดสอบเพื่อวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง และจากที่คุณหมอปฏิบัติมา การซักประวัติคนไข้ให้ละเอียดและนานพอจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งตรวจที่ถูกต้อง ไม่ส่งตรวจเยอะเกินความจำเป็น โดยคุณหมอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ว่า "มีคนไข้มาด้วยอาการเหนื่อย มีประวัติเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบ แต่หมอจะไม่วินิจฉัยเลยทันทีว่าเป็นเพราะโรคเส้นเลือดหัวใจตีบกำเริบ หมอจึงถามอาการคนไข้ตามระบบเพิ่มเติม จนคนไข้มีคำพูดออกมาว่า ‘ถ่ายเป็นเลือด’ หมอถามว่าทำไมไม่บอกข้อมูลนี้ คนไข้ตอบว่าคิดว่าไม่สำคัญ นี่คือตัวอย่างว่าหากหมอไม่ถามก็จะไม่ได้ข้อมูลที่สำคัญ แล้วหมอก็อาจจะให้คนไข้คนนี้ไปตรวจสมรรถภาพหัวใจโดยการเดินสายพาน (EST) ซึ่งคนไข้อาจจะเป็นลมไปเลยก็ได้ เพราะตอนนั้นความเข้มข้นของเลือดเหลือแค่ 25% ด้วย" การมองภาพคนไข้แบบกว้างๆ แล้วค่อยๆ โฟกัสเข้าไป เปรียบเสมือนการดูแผนที่ภาพใหญ่ๆ ก่อนแล้วค่อยๆ ซูมในจุดที่สงสัย หากมีส่วนไหนที่ไม่แน่ใจ ก็ต้องค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม โดยปัจจุบันทำได้ง่ายและเร็วมากขึ้น ซึ่งคุณหมอได้ใช้แนวทางนี้ในการพัฒนาการรักษามาโดยตลอด

แพทย์ที่ดีต้องมีความรู้ในการรักษา และมีความเข้าใจผู้ป่วย

การเป็นอายุรแพทย์ที่ดี คุณมองว่า ต้องเก็บข้อมูลเป็น สังเคราะห์ข้อมูลเป็น คิดเป็น วางแผนการตรวจและการรักษาเป็น ต้องรู้ข้อจำกัด จุดเด่นจุดด้อยในแต่ละวิธีรักษา รู้ว่าต้องทำอะไรเพิ่มในสถานการณ์ที่ยาก ในโรคที่ซับซ้อน หมออาจไม่ต้องทำเป็นทุกอย่าง แต่หมอต้องรู้ว่าจะต้องทำอะไรหรือให้ใครทำต่อ เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด จะด้วยเทคโนโลยี เครื่องมือ หรือส่งคนไข้ให้แพทย์เฉพาะทางด้านใดเป็นผู้ดูแลต่อก็ต้องรู้และตัดสินใจได้ และนอกจากจะรู้จักโรคและการรักษาแล้ว จะต้องเข้าใจผู้ป่วยด้วย

"หมออยากให้หมอทุกคนคิดว่า เมื่อเรารักษาคนไข้คนนึง ถ้าเค้าคือคนที่เรารู้จักหรือเป็นญาติพี่น้องของเรา เราจะรักษาเค้าแบบไหน ทุกอย่างบนโลกนี้จะดีมากเลยนะ ถ้าจินตนาการได้ว่า ผมเป็นคุณ คุณเป็นผม การที่เรามองมุมที่เป็นตัวเอง มุมคนอื่น และมุมที่คนอื่นมองมาด้วย คือมองเป็น 3 ด้านในทุกๆ เรื่อง ความขัดแย้งก็จะลดลง การรักษาก็จะได้ประสิทธิผลที่ดีขึ้น สบายใจทั้งคนที่ให้การรักษาและถูกรักษา"