สุขภาพหัวใจ เลือกตรวจอย่างไรให้รู้ลึกรู้จริง?
โรงพยาบาลเปาโล
25-ม.ค.-2567

สุขภาพหัวใจ เลือกตรวจอย่างไรให้รู้ลึกรู้จริง?

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘พฤติกรรม’ ส่งผลต่อสุขภาพและการเกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการทำงาน ความเครียด การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การทานอาหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเกิด ‘โรคหัวใจ’ ได้เช่นกัน


จากสถิติขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า... อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจของคนไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปี


หัวข้อที่น่าสนใจ


หน้าที่สำคัญ ของสิ่งที่เรียกว่า ‘หัวใจ’

เราต่างรู้ดีว่าหน้าที่สำคัญของ “หัวใจ” คือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ซึ่งหากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมีความผิดปกติหรือต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น และยิ่งหากหลอดเลือดในร่างกายมีไขมันพอกพูนก็ยิ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก และอาจเกิดภาวะหัวใจวายที่มีอันตรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้


โรคหัวใจกับปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง

หลายคนไม่รู้ว่าโรคประจำตัวบางชนิด หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่ทำกันอยู่เป็นประจำนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • การสูบบุหรี่จัด

  • การดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป

  • การใช้สารเสพติด

  • การกินอาหารที่มีไขมันและคอเรสเตอรอลสูง

  • ความเครียด

  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น


‘ตรวจสุขภาพหัวใจ’ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค

ต่อให้ร่างกายจะดูเหมือนแข็งแรงแค่ไหน ทุกคนก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง รวมถึงการตรวจสุขภาพหัวใจ เพื่อประเมินความเสื่อมและความเสี่ยงในการเกิดโรค เป็นการค้นหาความผิดปกติที่อาจซ่อนตัวอยู่ จะได้รีบป้องกันหรือรักษาก่อนโรคจะลุกลาม ซึ่งทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีกว่า แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าอีกด้วย


วิธีตรวจสุขภาพหัวใจให้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่?

การตรวจสุขภาพหัวใจ เป็นการตรวจหลายๆ ระบบในร่างกายประกอบกัน แต่จะเน้นไปที่ระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยเริ่มจากการฟังการเต้นของหัวใจโดยแพทย์ การวัดความดันโลหิต และการตรวจหัวใจโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น


การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography : EKG)

เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจที่ปล่อยออกมาในแต่ละจังหวะของการเต้น โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ หน้าอก แขน และขา แพทย์จะอ่านผลและค้นหาความผิดปกติจากกราฟ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูง โดยการตรวจ EKG นี้ มักเป็นการตรวจวิธีแรกๆ ที่เลือกใช้ เมื่อผู้ป่วยมีประวัติหรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ซึ่งผลตรวจที่ได้จะเป็นเหมือนตัวตั้งต้นในการพิจารณาให้ทำการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไปตามความเหมาะสม


การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test : EST)

เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อดูการตอบสนองที่ผิดปกติ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ จากการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจด้วยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์พบความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะออกกำลังกาย ซึ่งหากผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอขณะที่ออกกำลังกายทดสอบอยู่ บางรายจะเกิดอาการเจ็บ จุกแน่นหน้าอก ทั้งนี้ การตรวจจะอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจโดยตรง จึงไว้ใจได้ว่ามีความปลอดภัยสูง


การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography : ECHO)

เป็นการตรวจเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ โดยข้อมูลการตรวจจะถูกแปลเป็นภาพบนจอมอนิเตอร์ที่แสดงให้เห็นถึงรูปร่าง ขนาดของหัวใจ ห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือด ตำแหน่งของหลอดเลือดที่เข้าและออกจากหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ การบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจนั้นเป็นอย่างไร เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ไม่เจ็บ และสามารถตรวจได้โดยไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ทั้งนี้ การตรวจ Echo จะดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ และอาจมองเห็นไม่ชัดเจนในผู้ที่อ้วนมาก เพราะไขมันอาจขัดขวางคลื่นความถี่สูงได้


การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery)

เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบจากการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมและรักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจให้ผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังทำให้เห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่อีกด้วย


การตรวจวัดความแข็งตัวของหลอดเลือดแดง (Ankle Brachial Blood Pressure Index : ABI)

เป็นการตรวจ โดยเทียบสัดส่วนแรงดันโลหิตของหลอดเลือดแดงที่ข้อเท้า (Ankle) กับแรงดันโลหิตของหลอดเลือดแดงที่ข้อแขน (Brachial artery) ในข้างเดียวกัน คือ ขาขวาเทียบกับแขนขวา และขาซ้ายเทียบกับแขนซ้าย เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งหรือตีบ (Peripheral Arterial Disease) 


ซึ่งการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงมักเริ่มจากการมีไขมันไปเกาะที่ผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบ เกิดพังผืด และมีแคลเซียมเกาะสะสม หรือมีลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดแดงหนาขึ้นจนหลอดเลือดแดงตีบแคบลง ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณขาและเท้าไม่เพียงพอ พบมากในผู้สูงอายุที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหลอดเลือดสมองตีบ เพราะจะมีหลอดเลือดแดงผิดปกติในลักษณะเดียวกัน รวมถึงพบมากในผู้ป่วยโรคเบาหวาน



การตรวจภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (High Sensitivity C-Reactive Protein : hsCRP)

นอกจากการตรวจสุขภาพหัวใจในหลายวิธีแล้ว ยังสามารถตรวจแบบเจาะลึกไปถึงภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดแดงได้ ซึ่งก็คือ การตรวจภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด (High Sensitivity C-Reactive Protein) หรือ hsCRP โดยเป็นการตรวจหาระดับโปรตีนที่มีชื่อว่า C-reactive Protein (ซี-รีแอคทีฟโปรตีน) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ


หากพบว่ามีค่า CRP สูงมาก ก็แสดงว่ามีการอักเสบในร่างกายมาก ซึ่งแพทย์จะนำค่า CPR นี้มาพิจารณาร่วมกับการตรวจร่างกายอื่นๆ ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเส้นโลหิตฝอยในสมองแตก และ/หรือโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ มากน้อยเพียงใด เพื่อทำการเฝ้าระวังหรือทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป



การตรวจสุขภาพหัวใจ เป็นการตรวจเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรค รวมถึงป้องกันการลุกลามของโรค หากพบว่าเริ่มมีปัญหาตรงส่วนใดจะได้รีบรักษาอย่างตรงจุด ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมักไม่แสดงอาการหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาก่อน