รู้ไหม? แค่ปรับ 3 อ. ก็ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบได้
โรงพยาบาลเปาโล
07-เม.ย.-2563

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2561 ระบุไว้ว่า... คนไทยป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 432,943 คน และจากตัวเลขดังกล่าว มีอัตราการตายมากถึง 20,855 คนต่อปี โดยอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจต่อประชากร 100,000 คน (พ.ศ.2555-2559) เท่ากับ 23.4, 26.9, 27.8, 29.9 และ 32.3 ตามลำดับ โดยยังมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหน่อยไหม? จะได้ลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • ปรับเปลี่ยนเรื่อง “อาหาร”
  • แม้แต่ทฤษฎีการลดน้ำหนัก ยังบอกไว้ว่า “การควบคุมอาหาร” มีความสำคัญมากถึง 80% หัวใจสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจึงหนีไม่พ้นเรื่องของ “การปรับอาหารการกิน” เป็นหลัก โดยอาหารที่ควรเลือกกิน คืออาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรืออาหารแปรรูปที่มักมีโซเดียมสูง (เพราะโซเดียมจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น) และลดอาหารหวานจัด

    การแบ่งสัดส่วนอาหารในหนึ่งมื้อที่เราอยากแนะนำ คือแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ครึ่งหนึ่งหรือ 2 ส่วน ควรเป็นอาหารจำพวกเส้นใย ผัก ผลไม้ อีก 1 ใน 4 ส่วนจะเป็นข้าวไม่ขัดสี เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และอีก 1 ส่วนคือโปรตีน อย่าง ปลา หรืออกไก่ ไม่ควรกินเนื้อแดงบ่อยๆ เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง

    นอกจากเรื่องของอาหารคาวหวานแล้ว “แอลกอฮอล์” ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรดื่มในปริมาณมากๆ หรือดื่มเป็นประจำ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่มีแคลอรีสูง เมื่อร่างกายเผาผลาญไม่หมดก็จะกลายเป็นไขมันสะสมต่อไป

  • ปรับเปลี่ยนเรื่อง “ออกกำลังกาย”
  • ไม่เพียงแค่การควบคุมอาหารที่ต้องให้ความสำคัญ “การออกกำลังกาย” ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักที่คนรักสุขภาพไม่ควรมองข้าม ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็คือการคาร์ดิโอทุกชนิดกีฬา โดยออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30-60 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ ส่วนการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งอาจทำเพียง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็เพียงพอแล้ว

  • ปรับเปลี่ยนเรื่อง “ความอ้วน”
  • เพราะความอ้วนหรือการมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไขมันในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งการลดน้ำหนักที่เหมาะสม ก่อนอื่มต้องคำนวณหาค่า BMI โดยใช้น้ำหนักตัว หารด้วย ส่วนสูง ยกกำลังสอง หากพบว่าค่า BMI สูงเกินไป ก็ควรลดน้ำหนักให้ค่า BMI มาอยู่ระหว่าง 18-23 จึงถือว่าพอเหมาะ

    เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่ไม่เคยได้หยุดพัก และเป็นจุดศูนย์กลางที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเรา การปรับพฤติกรรมเพื่อช่วยดูแลสุขภาพหัวใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน จะป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่หรือไม่... ก็ไม่ควรมองข้าม!!