อัลไซเมอร์…เจอร์นี่ เส้นทางของโรคสมองเสื่อม
โรงพยาบาลเปาโล
05-ก.พ.-2563

อาการขี้ลืมนั้นมีหลายแบบ เช่น ลืมเพราะไม่มีสมาธิ ลืมเพราะตื่นเต้น ลืมเพราะต้องทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องอันตรายหรือน่าตกใจอะไร แต่มีอาการ “ลืม” แบบหนึ่งที่เป็นสัญญาณเตือนถึงการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมประเภท “อัลไซเมอร์” ซึ่งพบมากในผู้สูงวัย นี่สิ! เป็นอาการขี้ลืมที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะหากเราละเลยถึงการดำเนินโรคที่กำลังลุกลาม ก็จะส่งผลให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ช้าลง การรักษาก็ยากขึ้น

หากใครก็ตามที่อยู่ใกล้ชิดผู้สูงวัยแล้วเห็นอาการขี้หลงขี้ลืม หรือมีพฤติกรรมที่คาดว่าอาจเป็นโรค “อัลไซเมอร์” ก็ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อคนไข้จะได้ไม่เสียคุณภาพชีวิตไปอย่างรวดเร็ว

โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากสาเหตุใด?

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมอย่างช้าๆ ของเซลล์สมอง ทำให้ระดับของสารสื่อประสาทในสมอง (Acetylcholine) ลดลง จึงส่งผลให้คนไข้มีปัญหาในเรื่องของ ความคิด ความจำ พฤติกรรม และการใช้ภาษาที่เปลี่ยนไป ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยโรคนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะใหญ่ๆ คือ...

  • ระยะแรก (Early-Stage)
  • ในระยะแรกของผู้ที่เริ่มมีอาการโรคสมองเสื่อมประเภทอัลไซเมอร์ ส่วนใหญ่คนไข้จะยังทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้เอง แต่มักจะหลงลืมในเรื่องใหม่ๆ ที่เพิ่งทำ หรือเพิ่งพูด เราจึงมักเห็นผู้ป่วยทำสิ่งนั้นซ้ำๆ เช่น เพิ่งถามลูกว่า สุดสัปดาห์นี้ลูกจะไปเที่ยวที่ไหน ลูกก็ตอบและเล่าให้ฟังแล้ว พอเวลาผ่านไปไม่ถึงชั่วโมง ก็ถามลูกในคำถามเดิมอีก ทำแบบนี้วันละหลายครั้ง เพราะลืมว่าได้คุยเรื่องนี้กับลูกแล้ว

    นอกจากจะลืมเรื่องที่เพิ่งพูดหรือเพิ่งทำแล้ว อาจจะเริ่มเรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก แม้จะรู้ว่าสิ่งนั้นมีไว้ทำอะไร เช่น เรียก “ปากกา” ไม่ถูก แต่รู้ว่ามีไว้สำหรับเขียนหนังสือ เริ่มสับสนทิศทาง ซ้าย ขวา ตัดสินใจเดินไปไม่ถูกทาง โดยเฉพาะทางที่ไม่คุ้นเคย

    แต่ในส่วนของความทรงจำเก่าๆ ที่เกิดขึ้นมานานสมัยยังเป็นหนุ่มเป็นสาวกลับยังจำได้ดีอยู่ เช่น จำได้ว่าเคยเรียนที่ไหน เรียนอะไร เคยไปเที่ยวที่ไหนมาบ้างและไปกับใคร

  • ระยะที่สอง (Middle-Stage)
  • ผู้ป่วยจะเริ่มมีความบกพร่องในการดูแลตัวเอง เริ่มไม่ใส่ใจตัวเอง เพราะเริ่มตัดสินใจไม่ถูกว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้ เช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ได้ อาบน้ำเองไม่ได้ ไม่หวีผม ไม่แปรงฟันเพราะลืมว่าต้องทำอย่างไร หรือทำไปทำไม มีอารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด เกลียดการเข้าสังคม จนส่งผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป

    ในด้ายความทรงจำ จะสูญเสียความทรงจำใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใกล้ๆ มากขึ้น เช่น จำไม่ได้ว่ากินข้าวไปแล้ว กินยาไปแล้ว สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษา นึกคำที่จะพูดไม่ออก ใช้ภาษาผิดพลาดมากกว่าเดิม เรียกชื่อคนผิดๆ ถูกๆ บางคนอาจมีการเห็นภาพหลอนได้ด้วย

  • ระยะที่สาม (Late-Stage)

ผู้ป่วยจะเริ่มมีความบกพร่องในการดูแลตัวเอง เริ่มไม่ใส่ใจตัวเอง เพราะเริ่มตัดสินใจไม่ถูกว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันเองได้ เช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ได้ อาบน้ำเองไม่ได้ ไม่หวีผม ไม่แปรงฟันเพราะลืมว่าต้องทำอย่างไร หรือทำไปทำไม มีอารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิด เกลียดการเข้าสังคม จนส่งผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไประยะนี้ผู้ป่วยมักช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายจะน้อยลงหรือมักนอนติดเตียง ความจำจะแย่ลงมาก มีความเฉยเมยไม่สนใจอะไรเลย ถึงขนาดจำคนใกล้ชิดไม่ได้ และอาจจำชื่อตัวเองไม่ได้ด้วย อาจมีพฤติกรรมและอารมณ์รุนแรง ขว้างปาสิ่งของ กินข้าวเลอะเทอะ จึงจำเป็นต้องมีผู้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

จะเห็นได้ว่าอาการหรือพฤติกรรมเหล่านี้ ไม่ใช่แค่การขี้ลืมเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทั้ง 4 ด้าน คือ 1.ด้านความจำ 2.ด้านความคิด 3.ด้านคำพูด 4.ด้านพฤติกรรมหรือการกระทำ ดังนั้น... หากผู้ใกล้ชิดให้ความสนใจ หมั่นสังเกตผู้สูงอายุในบ้าน เมื่อเห็นพฤตกรรมหรืออาการตั้งแต่ในระยะแรกก็ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อชะลอการลุกลามของโรค เพราะจริงๆ แล้วโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่โรคที่จะเป็นแบบฉับพลันทันใด ดังนั้นการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปอีกยาวนานเลยทีเดียว