ป้องกัน “ท้องผูกเรื้อรัง” ก่อนเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรงพยาบาลเปาโล
10-มี.ค.-2563
มะเร็งลำไส้ใหญ่...อีกหนึ่งมะเร็งร้ายอันดับต้นๆ ที่คนไทยเป็น ข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยที่ถูกกล่าวถึงใน American College of Gastroenterology (ACG) 2012 บอกว่า… ภาวะท้องผูกเรื้อรังมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยพบว่าผู้ที่มีท้องผูกเรื้อรังมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.78 เท่า ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะท้องผูก… จึงถือเป็นการช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ส่วนหนึ่ง

ขับถ่ายแบบไหน? เรียกว่า “ท้องผูก”

ลักษณะของการขับถ่ายอุจจาระที่บอกได้ว่ามีเกณฑ์ผิดปกติ คือ เมื่อจำนวนครั้งในการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับลักษณะของอุจจาระที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ก้อนมีขนาดเล็กลง หรือก้อนแข็งขึ้น เวลาถ่ายต้องออกแรงเบ่งให้หลุด และใช้เวลานานกว่าจะขับถ่ายเสร็จ เมื่อปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังไปนานๆ หากคุณมีภาวะนี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงทวาร หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ปรับพฤติกรรม...ป้องกันอาการท้องผูก

  • ขับถ่ายให้เป็นเวลา
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการขับถ่ายคือหลังตื่นนอนในตอนเช้า ดังนั้น ควรปรับเวลาการตื่นนอนให้เช้าขึ้น… เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการดื่มนมหรือดื่มน้ำเปล่าที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากถ่าย
  • ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ในหนึ่งวัน
  • น้ำเปล่าถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการกระตุ้นการขับถ่าย ควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 1.5-2 ลิตรต่อวัน โดยแบ่งดื่มในแต่ละช่วงเวลา ครั้งละ 1-2 แก้ว ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ แบบรวดเดียว
  • เลือกทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
  • อีกตัวช่วยสำคัญในการขับถ่าย คือ อาหารไฟเบอร์สูง อย่าง ผักและผลไม้ โดยปริมาณของใยอาหารที่พอเหมาะในแต่ละวัน คืออย่างน้อยวันละ 6 กรัม (สามารถสังเกตได้จากลักษณะของอุจจาระ ถ้าจมน้ำ… แสดงว่าต้องเพิ่มการกินผักและผลไม้มากขึ้น)
      • ส้ม เป็นผลไม้ที่หาทานง่ายและราคาไม่สูง ส้มจะอุดมไปด้วยวิตามินซีและยังอัดแน่นไปด้วยไฟเบอร์ที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย ทั้งยังมีสารนารินจีนินที่ทำหน้าที่คล้ายกับยาระบายอีกด้วย
      • ลูกพรุน ไม่เพียงเป็นแหล่งไฟเบอร์ปริมาณสูง แต่ในลูกพรุนยังมีสารไดโฮดรอกซีฟีนีลอิซาติน ซึ่งมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของลำไส้ และยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียมมากกว่ากล้วย ถึง 2 เท่า จึงลดปัญหาร่างกายขาดโพแทสเซียม...สาเหตุของอาการท้องผูก
      • ถั่วดำ ไม่น่าเชื่อเลยว่า...ในถั่วดำ 1 ถ้วยจะอุดมไปด้วยไฟเบอร์มากถึง 15 กรัม รวมทั้งยังมีโพแทสเซียมและแมกนีเซียม ตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ง่ายขึ้น
      • ราสเบอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่มีไฟเบอร์สูงมากกว่าสตรอว์เบอร์รี่ถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
      • อัลมอนด์ ไม่ใช่แค่เป็นแหล่งไขมันดี แต่อัลมอนด์ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ทั้งยังอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่ช่วยให้อุจจาระเคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้สะดวกขึ้น
    • ออกกำลังกายเป็นประจำ
    • การออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในคนที่ไม่ค่อยชอบออกกำลังกายหรือเอาแต่นั่งๆ นอนๆ ไม่ขยับร่างกายในแต่ละวัน มักจะมีโอกาสเกิดภาวะท้องผูกได้สูง

    “ไม่ปวด...เลยพยายามเบ่งถ่าย” พฤติกรรมอันตรายที่ควรหยุด!

    หลายคนยังมีความเข้าใจแบบผิดๆ ว่า.. “คนเราต้องขับถ่ายอุจจาระทุกวัน” เมื่อไม่รู้สึกว่าต้องการขับถ่ายก็จะพยายามออกแรงเบ่ง ซึ่งพฤติกรรมการขับถ่ายแบบนี้เป็นการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น หากปรับพฤติกรรมเรื่องการกิน การออกกำลังกายแล้ว ยังไม่รู้สึกว่าต้องการขับถ่ายในทุกวันก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ถ้าจำนวนครั้งของการถ่ายในแต่ละสัปดาห์ยังเหมือนเดิม

    แม้ว่าจะปรับพฤติกรรมเพื่อการขับถ่ายที่ดีแล้ว แต่ยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็น “มะเร็งลำไส้ใหญ่” หากคุณอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงการมีนิสัยชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ก็ควรเข้ารับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อเช็คสุขภาพของลำไส้...ก่อนเสี่ยงโรคมะเร็งร้าย