เชื้อ เอช.ไพโลไร (H.pylori) แบคทีเรียตัวร้ายทำเสี่ยงโรคกระเพาะอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล
26-ธ.ค.-2566

ปวดท้อง จุกเสียด เรอบ่อย แน่นหน้าอก เบื่ออาหาร ทานได้น้อยลง หากพบเจออาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกระเพาะอาหาร หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งการมีเชื้อแบคทีเรียเอช.ไพโลไร (H.pylori) อาศัยอยู่ในกระเพาะอาหารนั้น คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคและอาการเหล่านี้ โดยเชื้อนี้มักปนเปื้อนอยู่ในน้ำและอาหาร ซึ่งความน่ากลัวคือจะมีเพียง 10-15% ของผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการ ดังนั้นการตรวจหาเชื้อ H.pylori แม้จะยังไม่มีอาการ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต 


หัวข้อที่น่าสนใจ

แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร ?

วิธีตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร (H.pylori) ทำได้กี่วิธี

รับมืออย่างไร? เมื่อติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H.pylori) 

ป้องกันการติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H.pylori) ได้อย่างไร?


แผลในกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร ?

แผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • มีการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H.pylori) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเชื้อนี้จะผลิตเอนไซม์ที่ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ส่วนการติดเชื้อนั้น มักเกิดจากการดื่มน้ำหรือกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำหรือใช้ช้อนตักอาหารร่วมกัน และล้างมือทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร

  • การใช้ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ก็สามารถทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารได้ เพราะยาทั้ง 2 ประเภทนี้ จะไปยังยั้งการผลิตเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส (cyclooxygenase : COX) ในกระเพาะอาหาร ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องเยื่อบุผนังกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอ่อนแอลงและไวต่อการถูกทำลายโดยกรดมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ง่าย

  • ความเครียด ที่ทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารเสียหาย

  • การสูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการเกิดแผลมากขึ้น

  • การดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบและเสี่ยงต่อการเกิดแผลมากขึ้น

  • โรคบางชนิด เช่น โรคเอสแอลอี (SLE) หรือภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะสร้างแอนติบอดีไปทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ของตนเองในอวัยวะต่างๆ รวมถึงเยื่อบุกระเพาะอาหารด้วย


วิธีตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร (H.pylori) ทำได้กี่วิธี

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจหาเชื้อ H.pylori หลักๆ อยู่ 3 วิธี คือ 

  • การส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นวิธีตรวจที่แม่นยำที่สุด โดยแพทย์จะส่องกล้องเข้าไปตรวจดูภายในกระเพาะอาหารและตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาเชื้อ

  • การเป่าลมหายใจ (Urea Breath Test) เป็นการตรวจที่สะดวกและรวดเร็ว ด้วยการวัดปริมาณแอมโมเนียจากลมหายใจ เนื่องจากเชื้อเอช.ไพโลไร สามารถเปลี่ยนยูเรียให้เป็นแอมโมเนียได้ หากมีปริมาณแอมโมเนียสูงเมื่อเทียบกับคนปกติ ก็สงสัยได้ว่าอาจมีเชื้อเอช.ไพโลไรในระบบทางเดินอาหาร

  • การตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ


รับมืออย่างไร? เมื่อติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H.pylori) 

การรักษาการติดเชื้อเอช.ไพโลไร สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อร่วมกับการให้ยาลดกรด โดยจะต้องรับประทาน 10-14 วัน ให้ครบตามที่แพทย์กำหนด รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา หรือแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ วันละ 5-6 มื้อ เพื่อไม่ให้ท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดท้องได้ และบางรายอาจหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิด เช่นยาแอสไพริน หรือยาที่มีส่วนประกอบของแอสไพริน และยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ในขณะทำการรักษา เพราะจะส่งผลให้เกิดการระคายเคือง และเสี่ยงมีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งหลังการรักษา แพทย์จะนัดหมายเพื่อติดตามผล หากพบว่ายังมีการติดเชื้ออยู่ จะต้องรักษาซ้ำโดยการเปลี่ยนยา เพราะอาจเป็นไปได้ว่าเชื้อจะดื้อยา


ป้องกันการติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H.pylori) ได้อย่างไร?

เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อเอช.ไพโลไร (H.pylori) ควรหมั่นรักษาสุขอนามัย ล้างมือทุกครั้งก่อนทานอาหาร ทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจปนเปื้อนเชื้อ หรืออาหารค้างคืน งดการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หาเวลาทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อไม่ให้เครียดเกินไป และหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะตัวยาจะไปยับยั้งการผลิตเอนไซม์ไซโคลออกซิจิเนส ที่มีหน้าที่ปกป้องเยื่อบุผนังในกระเพาะอาหารจากกรดต่างๆ ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอและเกิดแผลง่าย จนนำไปสู่การเป็นโรคกระเพาะในที่สุด



ในแต่ละวัน กระเพาะอาหารของเราต้องทำหน้าที่รองรับและย่อยอาหารสารพัดชนิด เราจึงควรปกป้องดูแลกระเพาะอาหารให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะหากเป็นโรคกระเพาะจะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม อีกทั้งการมีเชื้อ เอช.ไพโลไร ในกระเพาะอาหาร ไม่ใช่แค่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะที่จะทำให้ปวดท้องเรื้อรังและรักษาได้ยาก แต่ยังเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ดังนั้น การตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร เพื่อรีบรักษา จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม