ผ่าตัดรักษาต้อเนื้อ เพื่อการกลับมาเห็นโลกสดใส
โรงพยาบาลเปาโล
10-ก.ค.-2563
โรคตาต้อในผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อกระจกหรือต้อหิน นั้นเกิดจากความเสื่อมของดวงตา แต่ใช่ว่าผู้สูงวัยทุกคนจะต้องเป็นโรคตาต้อ เพราะส่วนหนึ่งของการเกิดโรคนั้นมาจากการใช้ชีวิตที่มีพฤติกรรมหรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงกว่าปกติ ซึ่งหากใครที่คอยระวังดูแลรักษาดวงตาได้ดี โรคต้อก็จะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ

ต้อลมและต้อเนื้อคือกลุ่มโรคเดียวกัน
ต้อลม (Pinguecula) และต้อเนื้อ (Pterygium) มักเกิดกับผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งบ่อยๆ เช่น ชาวไร่ ชาวสวน ชาวประมง หรืออาชีพในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเชื่อมโลหะ การใช้ชีวิตกลางแจ้งทำให้ดวงตาต้องโดนลม ฝุ่น ควัน และสัมผัสกับแสงอัลตราไวโอเลต (รังสี UV) อยู่เสมอ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้เยื่อบุตาเสื่อมลงเร็วขึ้น หรือแม้แต่คนทำงานออฟฟิศที่ต้องใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ จนเกิดเป็นโรคตาแห้ง ก็สามารถพัฒนาไปเป็นโรคต้อลมได้และต้อเนื้อในที่สุด

ลักษณะของต้อเนื้อ (Pterygium)
ต้อเนื้อจะมีลักษณะเป็นพังผืดที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขาว มองเห็นเป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยม ปกติแล้วมักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา โดยจะค่อยๆ โตและลามเข้าไปในตาดำอย่างช้าๆ จนถึงกลางตาดำ เมื่อถึงจุดนี้ก็จะเหมือนต้อเนื้อมาทำการปิดรูม่านตาบดบังการมองเห็น ทำให้คนไข้มีอาการตามัว บางรายอาจมีสายตาเอียงร่วมด้วยเพราะเนื้อเยื่อจะไปกดอยู่ที่กระจกตา และเมื่อไหร่ที่เกิดการอักเสบ บวมแดง ก็จะรู้สึกเคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ซึ่งควรได้รับการรักษา

โรคต้อเนื้อมีอาการอย่างไร
เมื่อเกิดพังผืดขึ้นบริเวณเยื่อบุตาขาวแล้ว อาการที่สังเกตได้ชัด มักมีดังนี้
  • ตาแดง แสบตา คันตา ระคายตา เคืองตา จนมีน้ำตาไหลออกมา
  • ตามัว หรือเห็นภาพซ้อน
  • ตามัว เหมือนมีม่านมาบดบัง
  • ค่าสายตาเปลี่ยน สายตาเอียง
  • ตาระคายเคือง แสบหรือคันที่ดวงตา

การวินิจฉัยต้อเนื้อ
การวินิจฉัยโรคความรุนแรงของต้อเนื้อ จักษุแพทย์จะทำร่วมกันหลายๆ วิธี เช่น
  • สอบถามอาการของผู้ป่วย
  • ตรวจบริเวณดวงตาและเปลือกตาด้วยการมองหาความผิดปกติ
  • ซักประวัติอาการแรกเริ่ม รวมถึงปัจจัยแวดล้อม ระยะเวลาที่อยู่กลางแจ้ง การเผชิญกับแสง และมลภาวะ
  • วัดสายตา ด้วยการอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขสีดำบนพื้นหลังสีขาวของ Snellen Chart
  • ตรวจด้วยเครื่องมือตรวจโรคตาเบื้องต้น Slit Lamp ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีแสงไฟและมีกำลังขยาย ทำให้มองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในดวงตาอย่างชัดเจน

ขั้นตอนการรักษา
จักษุแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรงของโรคและอาการที่พบ ในกรณีที่เป็นไม่มาก และไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตาถึงขั้นรุนแรง หรือไม่ได้บดบังการมองเห็น อาจไม่จำเป็นต้องรักษา ก็จะแนะนำให้คนไข้สวมแว่นกันแดดเป็นประจำ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่กลางที่โล่งแจ้ง ที่มีลมแรง มีแสงแดดจัด
แต่หากรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือมีการอักเสบ ก็จะใช้ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์บรรเทาอาการอักเสบ ลดการบวมแดง และใช้ขี้ผึ้งหรือน้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดวงตา หากการรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือคนไข้มาพบแพทย์ในตอนที่ต้อเนื้อลุกลามมากแล้ว ก็จะพิจารณาให้ผ่าตัดลอกต้อเนื้อออก

การผ่าตัดต้อเนื้อ
ในกรณีที่ต้อเนื้อลุกลามเข้าไปบนกระจกตาดำมากพอสมควร จะใช้วิธีลอกต้อเนื้อออก ซึ่งทำได้ทั้งการลอกต้อเนื้อออกและเปิดส่วนที่เป็นตาขาวไว้ หรือจะดึงเนื้อเยื่อตาที่อยู่รอบๆ ให้เข้ามาติดกับขอบตาดำแล้วเย็บปิดไว้ ทั้งนี้ยังมีวิธีปลูกเนื้อเยื่อทดแทนตำแหน่งที่ลอกต้อเนื้อออก เพื่อลดโอกาสการเกิดต้อเนื้อขึ้นใหม่ โดยเนื้อเยื่อใหม่นี้จะนำมาจากเยื่อบุตาขาวของผู้ป่วยเองหรืออาจนำมาจากเยื่อหุ้มรกก็ได้

การป้องกันและลดความเสี่ยงโรคต้อเนื้อ
ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงโรคต้อเนื้อด้วยการป้องกันและเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้ดังนี้
  • สวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันแสง ฝุ่น ควัน รังสีอัลตราไวโอเลต (แสง UV)
  • สวมหมวกที่มีปีกกว้างป้องกันแสงแดด เมื่อต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแสงจ้า ฝุ่น ควัน ลมแรง หรือมลภาวะต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการจ้องจอคอมพิวเตอร์ ทีวี สมาร์ทโฟนต่อเนื่องกันนานๆ
  • หากมีปัญหาตาแห้ง ควรใช้น้ำตาเทียมเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
  • ปรึกษาแพทย์ และหมั่นตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปี