การตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา (OCT)
โรงพยาบาลเปาโล
28-เม.ย.-2566

การตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT คืออะไร?

การตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT (Optical Coherence Tomography) คือการตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทตา และจุดรับภาพ ด้วยการสร้างภาพตัดขวางจากเครื่องเลเซอร์ โดยจะมีการถ่ายภาพจอประสาทตาในลักษณะภาพตัดขวาง เพื่อให้ได้ภาพในรูปแบบทั้ง 2 และ 3 มิติ สามารถให้ความละเอียดเพื่อการวินิจฉัยในระดับ 10-15 ไมครอน ทั้งยังมีการแสดงให้เห็นจอตาในลักษณะที่คล้ายกับภาพที่ได้จากการตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งภายในชั้นต่างๆ ของจอตาจะเห็นจอประสาทตาแยกเป็นชั้นย่อยๆ อีก 10 ชั้น รวมถึงเห็นขั้วตา 

ในการตรวจนี้ยังเห็นถึงความหนาของชั้นจอประสาทตา ความหนาของจุดกลางรับภาพของจอประสาทตาว่ามีปัญหาหรือถูกทำลายจากภาวะต่างๆ หรือไม่ เห็นรายละเอียดของการดึงรั้งระหว่างรอยต่อของน้ำวุ้นตากับจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา รวมถึงดูได้ว่าระดับของน้ำในตาที่เกิดจากโรคศูนย์กลางจอประสาทตาบวมน้ำ ลดระดับลงจากการรักษาหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อการตรวจหารอยโรค วินิจฉัยโรคที่เป็นอยู่ เพื่อการรักษาอย่างตรงจุดก่อนที่อาการจะแย่ลง


ใครบ้างที่ควรตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT

  • ผู้ที่อายุน้อยกว่า 50 ควรตรวจทุก 2-4 ปี

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ควรตรวจทุก 1-2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติในการมองเห็น 

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคจอประสาทตาเสื่อมจากการเป็นโรคเบาหวาน

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้อหิน


ขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT

ผู้เข้ารับการตรวจนั่งอยู่หน้าเครื่องตรวจเหมือนการตรวจตาทั่วไป โดยไม่ต้องฉีดยาขยายรูม่านตา และไม่มีอุปกรณ์หรือรังสีใดๆ มาสัมผัสที่ดวงตา ผู้ตรวจจะทำการตรวจตาทีละข้าง โดยใช้เวลาในการตรวจเพียงประมาณ 5 นาที


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT

  • ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรพิเศษ


การแปรผลและการประเมินผลตรวจวิเคราะห์ขั้วประสาทตา OCT

แพทย์จะประเมินผลการตรวจและวินิจฉัยโรคจากภาพที่ได้จากการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยสามารถตรวจโรคตาได้หลายประเภท เช่น 

  • โรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งโดยมากจะเกิดในผู้สูงอายุ

  • โรคจุดรับภาพฉีดขาด หรือจุดรับภาพบวมจากภาวะต่างๆ เช่น จากโรคเบาหวาน หรือมีภาวะเส้นเลือดที่จอประสาทตาผิดปกติหรืออุดตัน

  • ภาวะพังผืดที่จอประสาทตาและจุดรับภาพ จอประสาทตาหลุดลอก

  • ภาวะการอักเสบเรื้อรังในม่านตา

  • โรคต้อหิน


เพราะจอประสาทตาเป็นอวัยวะที่ทำให้เรามองเห็นภาพหรือสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถทดแทนหรือรักษาได้ด้วยการใส่จอตาเทียม เราจึงควรดูแลรักษาจอประสาทตารวมถึงทุกส่วนของดวงตาของเราให้ดี โดยเข้ารับการตรวจทันทีเมื่อมีอาการน่าสงสัย หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรค