หยุดพฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงข้อเข่าเสื่อม
โรงพยาบาลเปาโล
10-พ.ค.-2565

สาเหตุหลักๆ ของโรคข้อเข่าเสื่อมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็คือ “อายุ” เพราะอายุที่เพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองของกระดูกอ่อนกำลังลดลงไปทุกที “เพศ” ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เพศหญิงมีโอกาสเป็นข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหมดประจำเดือน แต่อาการข้อเข่าเสื่อมก็สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมของเราเองเช่นกัน ดังนั้นถ้าไม่อยากข้อเข่าเสื่อมเร็วกว่าวัย ต้องรู้!

  1. อย่ากินมาก จนน้ำหนักเกิน
  2. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ทำให้หัวเข่าต้องแบกรับน้ำหนักมากกว่าที่ควรจะเป็น จึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควร ดังนั้นควรควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในระดับมาตรฐาน โดยเลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะ คือ กินผักและผลไม้ไม่หวาน 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน คาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน การทานอาหารแต่พอดีไม่เพียงช่วยในเรื่องของน้ำหนัก แต่ยังส่งผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่นๆ อีกด้วย

  3. ใช้ข้อเข่าแต่พอดี
  4. การนั่งยองๆ อย่างการนั่งส้วมซึม นั่งเก้าอี้เตี้ยๆ ซักผ้า หรือแม้แต่การนั่งบนพื้น เช่น นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า ล้วนแต่ทำให้ข้อเข่าของเราต้องรับแรงกดทับสูงกว่าปกติทั้งสิ้น ไม่ว่าอวัยวะใดๆ ที่ถูกใช้งานหนักติดต่อกันต่อเนื่องแบบนี้ก็ย่อมเสื่อมสมรรถภาพไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใดๆ ที่ต้องงอหัวเข่ามากๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถสลับมานั่งเก้าอี้ที่ห้อยขาหรือสลับมานั่งเหยียดยา เพื่อลดแรงกดทับในข้อเข่าลง

  5. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
  6. คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง อย่างพอเหมาะจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณหัวเข่าให้แข็งแรง ช่วยแบ่งเบาภาระในการรับน้ำหนักของข้อเข่า แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม การหักโหมออกกำลังกายมากจนเกินไป ไม่เพียงส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ยังอาจทำให้อวัยวะต่างๆ บาดเจ็บได้

  7. หลีกเลี่ยงกีฬาที่มีการปะทะ
  8. ฟุตบอล บาสเกตบอล รักบี้ รวมไปถึง มวยไทย กีฬาเหล่านี้ ล้วนแต่เพิ่มโอกาสที่หัวเข่าจะถูกกระแทกจนเกิดการฉีกขาดของกระดูกอ่อนหรือเส้นเอ็นภายใน ซึ่งจะทำให้ข้อเข่าอ่อนแอลง ผู้ที่เริ่มมีอาการ หรือต้องการลดความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมควรหันมาเล่นกีฬาที่ไม่ค่อยมีปะทะอย่าง การขี่จักรยาน หรือการว่ายน้ำแทน

  9. อย่าละเลยโรคที่เคยเป็น
  10. ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ ป่วยเป็นข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือมีการติดเชื้อในข้อ อาการเหล่านี้จะส่งผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อเข่าถูกทำลายและเสื่อมเร็วกว่าปกติ เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดและข้อติดแข็ง จึงควรควบคุมและรักษาโรคดังกล่าวให้หายดี และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บที่หัวเข่า แต่ปล่อยทิ้งไว้ หรือได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง หรือหลังการรักษาไม่ดูแลตัวเองอย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าคนทั่วไปเช่นกัน ดังนั้น หากมีการบาดเจ็บที่หัวเข่า ควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางและหลีกเลี่ยงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมด้วย