ข้อเข่ายังดีอยู่ไหม เช็กได้ด้วยการเอกซเรย์
โรงพยาบาลเปาโล
09-เม.ย.-2567
ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน กระดูกสันหลังคด เช็กความเสี่ยงได้ด้วยการเอ็กซเรย์

เดี๋ยวนี้โรค “ข้อเข่าเสื่อม” ไม่ใช่แค่โรคของผู้สูงอายุอีกต่อไป แต่ยังพบได้ในวัยกลางคน หรืออายุน้อย ที่มาจากพฤติกรรมการใช้ข้อเข่าที่ไม่เหมาะสม ทั้งการสวมรองเท้าส้นสูง การนั่งในท่าเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน การนั่งไขว่ห้าง การออกกำลังกายที่หักโหม การมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มากๆ เป็นโรคอ้วน หรือเคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อเข่าแต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี สิ่งเหล่านี้ล้วนเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ทั้งนั้น

หัวข้อที่น่าสนใจ

สัญญาณเตือน ‘ข้อเข่าเสื่อม’ ที่ต้องสังเกต
เจ็บตึงหัวเข่าเวลาที่นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ หรือคุกเข่า
หลังจากนั่งนานๆ พอจะลุกขึ้น กลับรู้สึกข้อเข่าฝืดขัดอยู่บ่อยๆ
มีเสียงลั่น หรือดังกรอบแกรบในหัวเข่า
รู้สึกปวดเข่าเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได

ระยะและความรุนแรงของโรคข้อเข่าเสื่อม
ความรุนแรงและอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะเริ่มแรก จะมีอาการเจ็บตึงข้อเข่าแบบเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บตึงเมื่อมีการกดทับที่ข้อเข่า ปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว เช่น เดินขึ้นลงบันได แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้พัก กรณีเมื่อต้องอยู่ในท่าเดิมนานๆ พอเริ่มขยับก็จะรู้สึกถึงการฝืดหรือการเสียดสีของกระดูกข้อเข่า และมีเสียงดังในข้อ
ระยะแสดงอาการที่ชัดเจน จะปวดข้อเข่าแม้ขณะอยู่เฉยๆ และอาจมีอาการข้อเข่าอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเริ่มสึกกร่อน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าเกิดการอักเสบ อาการปวดจะรุนแรงขึ้น เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด
ระยะรุนแรง สังเกตได้จากการที่ข้อเข่าเริ่มมีการผิดรูป โก่งงออย่างชัดเจน ข้อเข่าหลวมหรือเบี้ยวผิดรูป กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก มีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับจนไม่สามารถลงน้ำหนักที่หัวเข่าได้ กรณีนี้อาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จึงจะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ

รู้ทันข้อเข่าเสื่อมด้วยการเอกซเรย์ข้อเข่า
การเอกซเรย์ข้อเข่าจะทำให้พบการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนข้อเข่าได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการพบเร็วในระยะที่ยังไม่รุนแรงนี้ทำให้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสมอไป ในรายที่ยังไม่มีการสึกกร่อนของข้อเข่านั้นสามารถรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม แต่หากข้อเข่าเริ่มมีการสึกกร่อนไปแล้วก็ต้องทำการรักษาโดยการใช้ยาควบคู่กับการบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า ซึ่งแพทย์ก็จะติดตามอาการและการดำเนินโรคอย่างต่อเนื่อง หากอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าสังเคราะห์ หรือ Hyaluronic Acid ที่ช่วยเสริมการหล่อลื่น ลดแรงเสียดทาน และกระตุ้นการสร้างน้ำเลี้ยงข้อเข่าใหม่ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อันตรายแค่ไหน หากไม่รักษาข้อเข่าเสื่อม?
หากพบว่ากระดูกอ่อนข้อเข่าเริ่มมีการสึกกร่อนแล้วไม่รีบทำการรักษา ร่างกายของเราจะรับรู้ได้โดยอัตโนมัติ และจะหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าข้างที่บาดเจ็บ ทำให้ข้อเข่าอีกข้างต้องรับภาระมากเกินความจำเป็น ซึ่งก็จะส่งผลให้ข้อเข่าที่ปกติอยู่เสื่อมตามไปด้วยเร็วกว่าที่ควร ท้ายที่สุดข้อเข่าก็จะเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ทั้ง 2 ข้าง จนต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

วิธีดูแลข้อเข่าให้แข็งแรง
ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ
หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือท่านั่งที่ต้องงอเข่ามากกว่า 90 องศา เช่น การนั่งยองๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ หรือคุกเข่า
หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บของข้อเข่า
หากมีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้เยื่อบุข้ออักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
เมื่อมีการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกวิธี

การ “ตรวจมวลกระดูก” ก็สำคัญ
เพราะจากสถิติพบว่า 1 ใน 2 ของผู้หญิง และ 1 ใน 5 ของผู้ชาย ที่อายุมากกว่า 50 ปี จะเกิดภาวะกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุน ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสลายของเนื้อกระดูกตามวัยที่มากขึ้น โดยความเสื่อมนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่มีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่จะรู้ได้ว่าคุณกำลังเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ และกระดูกเสื่อมสลายไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ก็คือ “การตรวจมวลกระดูก” นั่นเอง

เช็คความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุน ด้วยการ ‘ตรวจมวลกระดูก'
การตรวจมวลกระดูกเป็นการตรวจมวลกระดูกหรือความหนาแน่นของกระดูกด้วยการ X-ray โดยการใช้เครื่องตรวจความหนาแน่นของกระดูกที่เรียกว่า Bone densitometer ซึ่งอาศัยหลักการวัดการดูดซับรังสีเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพเนื้อเยื่อกระดูกว่ามีความหนาแน่นเท่าไหร่ เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วหรือยัง เป็นการตรวจที่ง่าย ปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียงจากรังสี ใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น

ขั้นตอนการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
ในขั้นตอนการตรวจ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทานอาหารและดื่มน้ำก่อนได้ตามปกติ เมื่อถึงเวลานัดหมาย เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดไว้ให้ ซึ่งข้อที่จะต้องปฏิบัติก็คือ ต้องไม่ใส่เครื่องประดับทุกชนิด และในกรณีที่มีโลหะฝังอยู่ในร่างกาย เช่น ใส่เหล็กดามกระดูก ใส่ข้อสะโพกเทียม หรือใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนล่วงหน้า

ค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกเท่าไหร่ ที่เข้าข่ายเป็นโรคกระดูกพรุน?
เราสามารถอ่านค่าความหนาแน่นของมวลกระดูกและประเมินผลการตรวจได้จากค่า T-Score ซึ่งมีความแม่นยำสูง โดยเปรียบเทียบกับค่าตัวเลขความหนาแน่นมาตรฐานของมวลกระดูกในผู้ที่มีอายุ 30 ปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงอายุที่มีความหนาแน่นของมวลกระดูกสูงที่สุด ได้ดังนี้
ค่า T-Score มากกว่า -1 ขึ้นไป = กระดูกหนาแน่นปกติ (Normal bone)
ค่า T-Score อยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 = เป็นโรคมวลกระดูกน้อย หรือกระดูกบาง (Osteopenia)
ค่า T-Score ต่ำกว่า -2.5 = เป็นโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

โครงสร้างกระดูกสันหลังเสียสมดุล กับปัญหาออฟฟิศซินโดรม
นอกจากโรคข้อเสื่อมและภาวะกระดูกพรุนแล้ว สำหรับคนในวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน หรือวัยรุ่น รวมถึงผู้สูงอายุ หากกำลังประสบปัญหาปวดหลัง ปวดคอบ่าไหล่เรื้อรัง คล้ายกับเป็น Office syndrome หรือมีปัญหาช่วงอกและลำตัวผิดปกติ ไหล่เอียง ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน เข่าและสะโพกผิดรูป หลังคด หลังโก่ง หลังแอ่น กระดูกสันหลังทรุด การเดินผิดปกติ การทรงตัวไม่ดี หัวเข่าหรือสะโพกมีลักษณะโก่งงอหรือขาผิดรูป ‘การตรวจประเมินโครงสร้างกระดูกสันหลัง’ หรือ Orthoscanogram ด้วยการ X-ray จะช่วยให้พบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

ค้นหาสาเหตุอาการปวดเรื้อรัง ด้วยการตรวจโครงสร้างกระดูกสันหลังด้วยการ X-ray
เป็นการตรวจโครงสร้างกระดูกด้วยการ X-ray ตั้งแต่กระดูกสันหลังช่วงคอลงไปจนถึงกระดูกก้บกบ และกระดูกเชิงกรานไปจนถึงข้อเท้า ซึ่งจะทำให้เห็นโครงสร้างกระดูกแบบ 2 มิติ โดยมีสัดส่วนที่เหมือนจริง ไม่มีการบิดเบือนภาพ การ X-ray ในลักษณะนี้จะสามารถวัดมุม ความสั้นยาวของกระดูกได้อย่างแม่นยำ

การตรวจโครงสร้างกระดูกสันหลัง ช่วยให้รู้อะไรบ้าง?
รู้ถึงระดับความรุนแรงของอาการกระดูกสันหลังคด
รู้ถึงระดับความเสื่อมของข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า ว่าอยู่ในเกณฑ์รุนแรงแค่ไหน
รู้ว่าภาวะขาสั้นยาวไม่เท่ากันมีสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะใด
รู้แนวทางในการวางแผนและติดตามการรักษาโรคกระดูกสันหลังคด รวมไปถึงอาการข้อเสื่อม

เพราะกระดูกเป็นโครงสร้างหลักที่ทำให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ การดูแลกระดูกและข้อต่อต่างๆ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้การตรวจความเสื่อมของข้อต่อต่างๆ การวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก และการตรวจโครงสร้างกระดูกสันหลังด้วยการ X-ray จะช่วยให้พบปัญหาก่อนอาการจะลุกลาม เพื่อช่วยให้รักษาได้ผลดีและชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลงได้