รู้ทันอาการโรคต่อมไทรอยด์ ง่ายๆ เพียงแค่ตรวจเลือด
โรงพยาบาลเปาโล
02-ม.ค.-2567

โรคต่อมไทรอยด์ เป็นอีกกลุ่มโรคที่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่จริงๆ แล้ว โรคต่อมไทรอยด์เป็นโรคที่พบบ่อย และเมื่อไทรอยด์เกิดภาวะผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงแบบผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหนื่อย หรืออารมณ์แปรปรวน เราจึงควรให้ความสำคัญ หมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค และรีบตรวจเช็กไทรอยด์ฮอร์โมน เพราะการรู้เร็ว จะช่วยให้เรารับมือกับโรคต่อมไทรอยด์ได้อย่างถูกต้อง


หัวข้อที่น่าสนใจ


หน้าที่และความสำคัญของต่อมไทรอยด์

ต่อมไทรอยด์เป็นอวัยวะที่อยู่ตรงบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงาน หากร่างกายมีภาวะที่ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนมากเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็จะส่งผลต่อระบบการเผาผลาญ ทั้งยังส่งผลต่อการกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและสมอง หรือแม้แต่ความแข็งแรงของผิวหนัง เล็บ หรือผม ก็มีผลเช่นกัน ซึ่งโรคของต่อมไทรอยด์สามารถแบ่งได้ 5 โรคหลัก ดังนี้


ชนิดและอาการของโรคต่อมไทรอยด์

1.โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ส่งผลให้ฮอร์โมนไทโรซีนและฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีนถูกผลิตออกมามากเกินไปจนกลายเป็นพิษ และด้วยหน้าที่ของฮอร์โมน 2 ชนิดนี้ มีส่วนช่วยควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย และควบคุมระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัสในระบบไหลเวียนเลือด เมื่อฮอร์โมนเกิดผลิตออกมามากก็ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานหนักขึ้น 

อาการ : ผู้ป่วยจะมีภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ใจสั่น เหงื่อออกง่าย ขี้ร้อน และมีอารมณ์ฉุนเฉียว รวมถึงน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วแบบผิดปกติ


2.โรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (hypothyroidism) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างไทรอยด์ฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาการจะตรงข้ามกับโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ 

อาการ : ผู้ป่วยจะมีอาการเฉื่อยชา ขี้เกียจ หายใจไม่เต็มที่ คิดช้า พูดช้า ขี้หนาว น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งอาการมักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป กว่าแพทย์จะวินิจฉัยได้ผู้ป่วยก็อาจเป็นมาแล้วหลายปี “การตรวจฮอร์โมนต่อมไทรอยด์” จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้แพทย์พบความผิดปกติได้เร็วขึ้น

 

3.โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ (Thyroiditis) ต่อมไทรอยด์อักเสบจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

  • ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลันนั้น จะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นหวัด มีไข้ หรือมีภาวะต่อมไทรอยด์โต 

อาการ : ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเมื่อคลำที่ก้อน สามารถรักษาได้ด้วยการทานยากลุ่มสเตียรอยด์ และมักจะหายขาดได้ภายใน 3-6 เดือน

  • ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรังนั้น จะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน อาการ : ผู้ป่วยมักมีอาการคอโตแต่กดแล้วไม่รู้สึกเจ็บ สามารถรักษาได้ด้วยการทานยาไทรอยด์ฮอร์โมน


4.โรคต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษ (Thyroid nodule) ภาวะต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษนั้นจะคลำพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ แต่ ‘ไม่มีอาการ’ ทำให้คนไข้มักสับสนกับภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยภาวะต่อมไทรอยด์โตแบบไม่เป็นพิษจะมีทั้งแบบโตก้อนเดียว (Single thyroid nodule) และแบบโตหลายก้อน (Multinodular goiter)


5.โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (thyroid cancer) ในกรณีที่ตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ที่แพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งไทรอยด์ แพทย์อาจทำการส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อค้นหาว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์หรือไม่ ซึ่งการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ที่เหมาะสมที่สุด คือ การผ่าตัด อาจผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมดหรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

อาการ : ก้อนต่อมไทรอยด์มีขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน ลักษณะของก้อนจะขยับเคลื่อนขึ้น-ลงขณะกลืนน้ำลาย บางรายอาจมีอาการเสียงแหบ หรือก้อนใหญ่ขึ้นจนหายใจไม่สะดวก


การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมไทรอยด์

เมื่อแพทย์ตรวจร่างกายเบื้องต้นแล้วพบว่า คนไข้มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ แพทย์จะพิจารณาทำการตรวจหาความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • การตรวจร่างกาย เป็นการตรวจเบื้องต้นโดยแพทย์จะใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางคลำลำคอในแต่ละด้าน จากด้านหลังไปด้านหน้า และจากบนลงด้านล่าง เพื่อพิจารณาขนาด รูปร่าง และลักษณะของต่อมไทรอยด์ หากพบว่าต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ผิดปกติ หรือมีก้อนโตขึ้น อาจต้องตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม

  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจเพื่อวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด โดยฮอร์โมนไทรอยด์หลักๆ มี 3 ชนิด คือ Triodothyronine (T3), Thyroxine (T4) และ Thyroid stimulating hormone (TSH) เป็นการตรวจเพื่อใช้พิจารณาว่าอาการที่เกิดขึ้น เกิดจากต่อมไทรอยด์จริงหรือไม่ หากระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ จะบ่งชี้ถึงภาวะไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำได้

  • การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือที่ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อให้เห็นรูปร่าง ขนาด และโครงสร้างของต่อมไทรอยด์ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ เพื่อพิจารณาลักษณะความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์

  • การตรวจชิ้นเนื้อต่อมไทรอยด์ เพื่อดูลักษณะของเซลล์ต่อมไทรอยด์อย่างละเอียด มักทำในกรณีสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง นับเป็นการตรวจเพื่อพิสูจน์ในขั้นตอนสุดท้าย


เมื่อเป็นโรคไทรอยด์ต้องรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคไทรอยด์ มีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคล โดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น อายุของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ และระยะเวลาของการดำเนินโรค แต่โดยปกติการรักษาไทรอยด์จะมี 3 รูปแบบหลัก คือ

1.รักษาด้วยยา โดยทั่วไปผู้ป่วยจะต้องทานยาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนานประมาณ 1-2 ปี เพื่อให้ง่ายและได้ผลต่อการควบคุมโรค หากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง จะมีโอกาสมากที่อาการของโรคจะทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ยากต่อการควบคุมและการรักษา

2.รักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน โดยส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่อายุมากและมีอาการค่อนข้างรุนแรง หรือกลับมาเป็นซ้ำหลังจากเคยรักษาด้วยการให้ยามาแล้ว

3.รักษาด้วยการผ่าตัด มักเป็นวิธีหรือทางเลือกสุดท้าย ซึ่งจะทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมาก และต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงผู้ป่วยมีอาการแพ้กลุ่มยากินที่ใช้ในการรักษา หรือเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเม็ดเลือดและหลอดเลือด โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ ก็จะใช้การผ่าตัดรักษาเป็นหลัก ซึ่งอาจผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือผ่าออกเพียงข้างใดข้างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์


เพราะหน้าที่ของต่อมไทรอยด์มีความสำคัญต่อร่างกายของเราอย่างมาก หากสังเกตพบอาการหรือสัญญาณผิดปกติจงอย่ารอช้า ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กฮอร์โมน และค้นหาความเสี่ยงโรคต่อมไทรอยด์ชนิดต่างๆ เพราะยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาได้