รู้มั้ย? ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม...สำคัญกว่าที่คิด
โรงพยาบาลเปาโล
07-มี.ค.-2565
จากข้อมูลสถิติในปี 2558 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั่วโลกทั้งสิ้นราว 6,255,000 ราย และในทุกๆ 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม 1 ราย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น นั่นเป็นเพราะมะเร็งเต้านมมักไม่มีอาการแสดง กว่าจะคลำพบก้อน...เซลล์มะเร็งก็อาจอยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม...จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการพบมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่มได้

เช็คหน่อย! คุณเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม หรือไม่?
  • เพศหญิง อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ยังไม่มีบุตร หรือ มีบุตรคนแรกหลังอายุ 35 ปี
  • สมาชิกในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
  • รูปร่างอ้วน โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือน
  • มีพฤติกรรมชอบดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารไขมันสูง
  • ไม่ชอบออกกำลังกาย
  • มีการใช้ยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน

ทำความรู้จัก “ดิจิตอลแมมโมแกรม”
ดิจิตอลแมมโมแกรมเป็นการใช้รังสีเอกซเรย์เต้านมเพื่อค้นหาความผิดปกติ โดยความผิดปกติที่เห็นอาจจะเป็นลักษณะก้อน ความหนาแน่นของเต้านม การกระจัดกระจายของเนื้อเต้านมที่ผิดปกติไป หรืออาจพบหินปูนในเต้านม เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ในระยะเริ่มแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมและใช้ตัวรับสัญญาณภาพชนิดดิจิตอล โดยข้อมูลภาพที่ได้จะส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปปรากฏบนหน้าจอมอนิเตอร์ที่มีความละเอียดสูง ช่วยให้แพทย์ที่ทำการวินิจฉัยทราบผลได้ในทันทีโดยไม่ต้องรออ่านผลและวินิจฉัยจากฟิล์มเหมือนในอดีต

ทำไม? "ดิจิตอลแมมโมแกรม” เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

  • คุณภาพของภาพเอกซเรย์ ภาพคมชัดสามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้ชัดเจน

  • ความแม่นยำ ผลถูกต้อง และแม่นยำได้สูงถึง 90%
  • ความปลอดภัย ถูกออกแบบเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับปริมาณรังสีต่ำ (จากการศึกษาเปรียบเทียบกับ Mammogram ระบบเก่า พบว่าการรับรังสีของผู้รับบริการด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมสามารถลดปริมาณรังสีลงจากเดิมประมาณ 30-60%)

  • ระยะเวลาในการตรวจรวดเร็ว ลดระยะเวลาในการตรวจเหลือเพียง 2 – 3 วินาที เนื่องจากมีการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม ทำให้สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้

การเตรียมตัวก่อนตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม
ช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการตรวจ แนะนำให้ตรวจในช่วงหลังหมดประจำเดือน ไม่ควรนัดตรวจแมมโมแกรมในช่วงให้นมบุตร หรือเมื่อท่านรู้สึกคัดตึงเต้านม หรือในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพราะจะทำให้ท่านเจ็บระหว่างตรวจมากกว่าช่วงเวลาอื่น นอกจากนี้ ในวันที่ตรวจไม่ควรทาแป้ง สารระงับกลิ่นกาย หรือโลชั่น บริเวณรักแร้หรือทรวงอก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดจุดบนภาพ ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ 
"แม้ว่าการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจะช่วยให้พบความผิดปกติเกี่ยวกับก้อนที่เต้านมได้ แต่ก็อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ดังนั้นหากคุณคือหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงควรมาตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกๆ ปี เพราะหากพบก้อนมะเร็งตั้งแต่ระยะแรก...โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็เพิ่มสูงขึ้น"