ผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผลเป็น อีกหนึ่งทางเลือกใหม่ของการรักษา
โรงพยาบาลเปาโล
22-มิ.ย.-2564
“ไทรอยด์” เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณคอหน้าหลอดลม มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย กระตุ้นการเต้นของหัวใจ รักษาอุณหภูมิของร่างกาย และการหลั่งเหงื่อ หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลให้ร่างกายเกิดความผิดปกติไปด้วย เช่น มีก้อนโตที่คอ อ้วน หรือผอมง่าย ปัจจุบันมีคนจำนวนมากป่วยเป็นโรคไทรอยด์โดยที่ไม่รู้ตัวเพราะไม่รู้จักโรคนี้ดีพอ บางคนจึงไม่ได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น การสังเกตว่าตัวเองมีความผิดปกติที่เกิดจากต่อมไทรอยด์จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย เพราะถ้าไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปย่อมส่งต่อสุขภาพ จึงควรรีบเข้ารับการรักษา

อาการแบบไหนคือไทรอยด์ทำงานผิดปกติ?

  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง เหนื่อยง่าย ที่เป็นเช่นนี้เพราะหัวใจถูกกระตุ้นให้ทำงานหนัก จากภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ใจสั่น เหงื่อออกง่าย และมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
  • ภาวะนอนไม่หลับ เนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ จึงหลั่งฮอร์โมนมากเกินไป ส่งผลต่อการกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางและรบกวนการพักผ่อนของเราได้ จึงทำให้รู้สึกไม่สดชื่นและง่วงตลอดเวลา
  • ท้องเสียง่าย ระบบขับถ่ายไม่เป็นปกติ เพราะต่อมไทรอยด์มีส่วนกระตุ้นการทำงานของระบบทางเดินอาหารด้วย อาจทำให้อุจจาระบ่อยขึ้น แต่หากเกิดภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีอาการท้องผูก
  • ตาโปนกว่าปกติ เนื่องจากเนื้อเยื่อหลังนัยน์ตาขยายขนาดขึ้นจากภาวะไทรอยด์เป็นพิษ
  • อ้วนง่าย หรือ ผอมง่าย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติในลักษณะหลั่งฮอร์โมนออกมามาก ก็จะกระตุ้นระบบเมตาบอลิซึมให้ขยันเกินไป ในภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะพบว่าน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนในภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นง่าย เนื่องจากมีการเผาผลาญที่ต่ำลง
  • เส้นผม และขนตามผิวหนังร่วง
  • ผิวแห้ง ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำทำให้ระบบเผาผลาญทำงานลดลง อาจทำให้เหงื่อลดน้อยลง และผิวแห้งมากขึ้นได้

เมื่อรู้ตัวว่าไทรอยด์ผิดปกติ ควรปฎิบัติอย่างไร?

โดยปกติแล้วโรคไทรอยด์สามารถรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยต่ละราย เช่น อายุของผู้ป่วย ขนาดของต่อมไทรอยด์ ระยะเวลาที่เป็นมาหรือระดับความรุนแรงของโรค

ไทรอยด์ผิดปกติ...รักษาอย่างไร?

  • รักษาด้วยยา ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 -2 ปี โดยในระหว่างนั้น ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุม เพราะการไม่ปฎิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำหรือไม่กินยาอย่างต่อเนื่องจะทำให้อาการของต่อมไทรอยด์มีความรุนแรงขึ้น และยากต่อการควบคุมได้ั
  • รักษาด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะพิจารณาเลือกใช้วิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุมาก และมีอาการค่อนข้างรุนแรง หรือเคยเป็นและอาการดีขึ้นแล้วจากที่รักษาด้วยการให้ยา แต่กลับมาเป็นซ้ำ
  • รักษาด้วยผ่าตัด วิธีการนี้แพทย์จะพิจารณาเลือกเป็นขั้นตอนสุดท้าย มักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากๆ และต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากขึ้น แพ้กลุ่มยากินที่ใช้ในการรักษา หรือเกิดผลข้างเคียงต่อระบบเม็ดเลือดและหลอดเลือด

อาการแบบไหน ที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์

การรักษาต่อมไทรอยด์ที่แพทย์พิจารณาเลือกมาใช้รักษาผู้ป่วยมักขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนการผ่าตัด แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการให้ยารับประทาน กลืนแร่ และการผ่าตัดเอาไทรอยด์ที่โตออกไปตามลำดับความรุนแรง บางกรณีการรักษาอาจจบลงด้วยการผ่าตัด เพราะรักษาวิธีก่อนหน้านี้แล้วก้อนไทรอยด์ยังไม่ยุบ อีกทั้งหากปล่อยทิ้งไว้นาน ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปสู่มะเร็งได้

ผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล เทคนิคใหม่ไร้รอยแผลเป็น

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องปาก บริเวณริมฝีปากล่าง จึงไม่เกิดแผลเป็นที่ผิวหนังหลังจากผ่าตัด การผ่าตัดแบบนี้ ถือเป็น NOTES (Natural Orifice Trans luminal Endoscopic Surgery) ซึ่งผ่าตัดผ่านช่องธรรมชาติของคนไข้ (ในที่นี้คือช่องปาก) จึงไม่เกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดวิธีนี้ต้องอาศัยเทคนิคและความเชี่ยวชาญเฉพาะของแพทย์ การเกิดภาวะแทรกซ้อนจะน้อยมาก เป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

ผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากดีอย่างไร

  • ไม่เกิดรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด
  • แผลที่เกิดจากการผ่าตัดจะอยู่ที่รอยต่อระหว่างเหงือกล่างกับริมฝีปากล่าง จึงไม่เห็นแผลภายนอก
  • ภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก เสียเลือดน้อยมาก
  • แผลหายเร็ว ไม่เกิดพังผืด
  • สามารถตัดต่อมไทรอยด์ได้ทั้ง 2 ข้าง โดยที่ไม่ต้องผ่าจุดอื่นเพิ่ม
  • เจ็บน้อย พักฟื้นไม่นาน
  • ไม่มีผลกระทบต่อกล่องเสียงของผู้ป่วย
  • การผ่าตัดมีความแม่นยำ เนื่องจากแพทย์จะมองเห็นเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียงที่วางขนานหลอดลมได้ง่ายกว่า จึงเก็บเส้นประสาทนี้ได้ดี

การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปากทำได้กับผู้ป่วยทุกรายหรือไม่?

การผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องปากแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดให้ตามความเหมาะสมของความรุนแรงและขนาดของไทรอยด์ ในกรณีของเนื้องอกไม่ควรใหญ่เกิน 6 ซม. หากใหญ่กว่านี้แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแบบเปิดแผล เนื่องจากเนื้องอกมีขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาจากความสมบูรณ์ทางร่างกายของผู้ป่วยด้วย คือ ในช่วงเวลาที่ทำการผ่าตัด การทำงานของต่อมไทรอยด์ต้องไม่ผิดปกติก่อนการผ่าตัด