ตรวจสุขภาพอย่างไรให้ "หัวใจ" แข็งแรง?
โรงพยาบาลเปาโล
05-พ.ค.-2564
ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ทั้งในเรื่องของการทำงาน ความเครียด การออกกำลังกาย หรือเรื่องของการกิน โดยเฉพาะ “โรคหัวใจ” ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ก็มีส่วนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เราสามารถดูแลสุขภาพหัวใจของตัวเองได้ด้วยการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งจะเป็นการช่วยค้นหาความผิดปกติ และประเมินว่าคุณมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนในโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ รวมถึงสุขภาพหัวใจว่าควรได้รับการดูแลรักษา หรือปรับพฤติกรรมอย่างไรให้เหมาะสม

“โรคหัวใจ” สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1

จากสถิติขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็น 31% ของการเสียชีวิตของคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า... อัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจของคนไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทุกปี

เพราะ “หัวใจ” ไม่เคยหยุดทำงาน...

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า… หน้าที่สำคัญของ “หัวใจ” คือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ซึ่งหากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งมีความผิดปกติหรือต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น และยิ่งหากหลอดเลือดในร่างกายมีไขมันพอกพูนก็ยิ่งทำให้หัวใจต้องทำงานหนัก และอาจเกิดภาวะหัวใจวาย อันตรายร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ปัจจัยเหล่านี้...อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

หลายคนไม่รู้ว่าโรคประจำตัวบางชนิด หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำกันอยู่เป็นประจำนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ไม่ว่าจะเป็น
  • สูบบุหรี่จัด
  • ดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
  • ใช้สารเสพติด
  • การกินอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลสูง
  • ความเครียด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ตรวจสุขภาพช่วยลดความเสี่ยง

เพราะต่อให้ร่างกายจะดูเหมือนแข็งแรงเพียงใด เราก็ควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง การตรวจสุขภาพจะช่วยค้นหาสิ่งผิดปกติและความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เปรียบเสมือนเครื่องมือในการเฝ้าระวัง หากตรวจพบว่ามีความผิดปกติหรืออวัยวะใดเริ่มมีความเสื่อมตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้รีบรักษาก่อนโรคจะลุกลาม ทำให้ผลการรักษาได้ผลดีกว่า แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าอีกด้วย

วิธี “ตรวจหัวใจ” ให้รู้ว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่?

  • ตรวจทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต
  • ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยใช้สื่อนำคลื่นไฟฟ้าขนาดเล็กไปวางตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ หน้าอก แขน และขา จากนั้นกราฟจะแสดงคลื่นไฟฟ้าเพื่อให้แพทย์อ่านผล และวินิจฉัยระดับความรุนแรงของอาการ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) คือ การให้ผู้ป่วยเดินหรือวิ่งบนสายพาน เพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และดูการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ สำหรับผู้ที่ไม่พร้อมในการวิ่งบนสายพาน จะเป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เพื่อดูกายวิภาคของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ การเคลื่อนที่และการบีบตัว วิธีนี้สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้เกือบทุกประเภท
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Coronary Artery) เป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบจากการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ การตรวจนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถควบคุมและรักษาปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจให้ผู้ป่วยแต่ละรายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังทำให้เห็นการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ เยื่อหุ้มหัวใจ เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่อีกด้วย
  • หากเกิดข้อสงสัยว่าเป็นโรคหัวใจ การตรวจที่จะบอกได้แน่ชัด คือ การตรวจฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจหรือ ที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ

ตรวจ CRP อีกหนึ่งวิธีหาความเสี่ยงโรคหัวใจ

นอกจากการตรวจสุขภาพจะทำเพื่อดูความสมบูรณ์ของระบบอวัยวะต่างๆ แล้ว ยังสามารถตรวจแบบเจาะลึกไปถึงภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือดได้ การตรวจภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด (C-reactive protein) หรือ CRP เป็นการตรวจหาโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ หากพบว่ามีค่า CRP สูงมากก็แสดงว่ามีการอักเสบในร่างกายมาก แพทย์จะวินิจฉัยผลของ CRP ร่วมกับการตรวจร่างกายอื่นๆ ว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคเส้นโลหิตฝอยในสมองแตก และ/หรือโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ มากน้อยเพียงใด เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป เพราะการตรวจสุขภาพควรตรวจให้ละเอียดทั้งร่างกาย รวมถึงหัวใจ เพราะเป็นการตรวจเพื่อป้องกันก่อนโรคต่างๆ ก่อนจะลุกลาม หากพบว่ามีปัญหาในส่วนใดจะได้รีบรักษาแต่เนิ่นๆ เพื่อการดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีอยู่เสมอเราจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี