ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามา จะดูแลตัวเองต่ออย่างไร
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
26-ต.ค.-2565
 นอกจากการดูแลและเตรียมตัวก่อนเข้ารับ “การผ่าตัด” จะเป็นเรื่องสำคัญแล้ว “การฟื้นฟูร่างกายหลังการผ่าตัด” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกและข้อ จำเป็นที่จะต้องใส่ใจดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีเพื่อให้บาดแผลจากการผ่าตัดฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตให้น้อยที่สุด

เพราะอะไรถึงต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า?
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นกระบวนการที่มีขึ้นเพื่อรักษาภาวะข้อเสื่อม ข้อเข่าชำรุด หรือหมดอายุการใช้งาน เป็นหัตถการที่ใช้แก้ไขอาการเจ็บปวดที่ข้อเข่าซึ่งเกิดจากโรคข้ออักเสบ สำหรับผู้ที่ผ่านการรักษาด้วยกายภาพบำบัดหรือฉีดสเตียรอยด์แล้วแต่ไม่ได้ช่วยลดความเจ็บปวดหรือทำให้มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ผู้คนโดยส่วนมากมักจะมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งหลังการผ่าตัดข้อเข่าแล้วควรที่จะต้องดูแลรักษาข้อเข่าอย่างเหมาะสมและไม่ใช้งานหนักจนเกินไปเพื่อถนอมอายุการใช้งานออกไปอีกด้วย

นี่คือการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
1. การเตรียมห้องนอนที่บ้าน ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันได เพื่อถนอมข้อเข่าเทียมให้มีอายุการใช้งานได้นาน และป้องกันการพลัดตกหกล้ม รวมถึงที่นอนควรสูงอย่างน้อย 1 ฟุตจากพื้น เพื่อความสะดวกในการลุก ขึ้น ลงจากเตียง
2. การดูแลแผลผ่าตัดบริเวณข้อเข่า หลังการผ่าตัดควรดูแลความสะอาดของแผลตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะโดยส่วนใหญ่แพทย์จะปิดแผลบริเวณที่รับการผ่าตัดด้วยพลาสเตอร์ชนิดกันน้ำได้ ทำให้ป้องกันไม่ให้น้ำเข้าไปในแผล และป้องกันแผลติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องควบคู่ไปกับการดูแลความสะอาดบริเวณแผลของตัวผู้ป่วยเองด้วย
3. ออกกำลังกาย/ออกกำลังเข่า/บริหารเข่า ฝึกบริหารกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรง ฝึกกระดกข้อเท้าเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ส่งให้ผลของการผ่าตัดดี และสามารถเดินได้ตามปกติ ควรพยายามออกกำลังข้อเข่าโดยงอเข่าทั้ง 2 ด้านให้ได้มากที่สุด และเหยียดได้ตามปกติ ควรออกกำลังข้อเข่าทุกวันและควรทำพร้อมกันทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันข้อเข่ายึดติด รวมถึงออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงกระแทกต่อข้อเข่ามากเกินไป เช่น เดินเร็ว รำมวยจีน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน
4. การเดิน โดยทั่วไป 6 สัปดาห์หลังผ่าตัดข้อเข่า ผู้ป่วยสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้าพยุง สามารถเหยียดและงอเข่าได้เกือบสุด หรืออาจจะหัดเดินโดยใช้เครื่องมือช่วยในการเดินในระยะแรก ฝึกเดินแบบไม่ลงน้ำหนักมากเกินไป โดยใช้อุปกรณ์เสริมต่างๆ เป็นตัวช่วย เพราะจะช่วยให้ลงน้ำหนักได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นการช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกให้สมานกันได้เร็วยิ่งขึ้น
5. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปจะส่งผลให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากขึ้น อายุการใช้งานของข้อเข่าที่ผ่าตัดเปลี่ยนมาก็จะลดลง
6. ควรใช้ส้วมที่เป็นชักโครก เพื่อลดการงอข้อเข่า ลดการปวดข้อ และควรมีราวจับข้างฝาผนังห้องน้ำ เพื่อช่วยให้การทรงตัว ป้องกันการหกล้มขณะใช้ห้องน้ำ

แม้ว่า “เทคโนโลยีทางการแพทย์” ในปัจจุบันจะช่วยให้ “การผ่าตัดข้อเข่า” มีขนาดบาด “แผลที่เล็กลง” และไม่น่าเป็นห่วงมากนัก คนไข้จึงสามารถฟื้นตัวจากแผลผ่าตัดได้อย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนของการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้สมานติดกัน ยังต้องอาศัยความเข้าใจ ความเอาใจใส่ของคนไข้และคนรอบข้าง เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วยิ่งขึ้น



สอบถามรายละเอียด

ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อเข่า อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร 02-514-4141 ต่อ 1203-1204