การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
โรงพยาบาลเปาโล
28-เม.ย.-2566

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG คืออะไร?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography หรือ EKG) เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจที่ปล่อยออกมาในแต่ละจังหวะของการเต้น หรือจังหวะของการบีบและคลายตัว เพื่อค้นหาความผิดปกติ เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคต่างๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเสี่ยงหัวใจล้มเหลว ภาวะความดันโลหิตสูง หรือหาสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกอื่นๆ รวมไปถึงตรวจเพื่อดูสภาพหัวใจของผู้ป่วยที่ได้รับยาที่มีผลต่อหัวใจ โดยการตรวจ EKG มักเป็นการตรวจวิธีแรกๆ ที่จะเลือกใช้ เมื่อผู้ป่วยมีประวัติหรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ซึ่งผลตรวจที่ได้จะเป็นเหมือนตัวตั้งต้นในการพิจารณาให้ทำการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไปตามความเหมาะสม


ใครบ้างที่ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหัวใจ

  • ผู้ที่มีอาการอันสงสัยได้ว่า อาจเป็นโรคหัวใจ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย

  • ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง น้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นโรคเบาหวาน  

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

  • ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย


ขั้นตอนการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

ผู้รับเข้ารับการตรวจจะต้องนอนหงายบนเตียงในห้องตรวจ จากนั้นเจ้าหน้าที่ผู้ทำการตรวจจะป้ายเจลเล็กน้อยที่บริเวณหน้าอก ข้อมือ และข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง และทำการติดแผ่นอิเล็กโทรด (Electrode) ที่บริเวณหน้าอก 6 จุด ที่ข้อมือและข้อเท้าทั้ง 2 ข้าง ที่ละจุด เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดเครื่องตรวจ ให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนนิ่งๆ เครื่องตรวจจะทำการประมวลผลโดยแสดงออกมาเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเวลา 5-10 นาที


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนเข้ารับการตรวจ 

  • ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร 

  • หากอยู่ในช่วงที่รับประทานยาหรืออาหารเสริม ต้องแจ้งแพทย์ก่อนทำการตรวจ เนื่องจากอาจทำให้ผลตรวจคลาดเคลื่อนได้


การแปรผลและการประเมินผลตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG

แพทย์จะแปรผลตรวจ โดยพิจารณาจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่สามารถบอกได้ว่า อัตราการเต้นของหัวใจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ มีหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือเปล่า นอกจากนี้ยังบอกได้ถึงความสัมพันธ์ในการทำงานของหัวใจห้องบนกับห้องล่างว่าปกติดีหรือไม่ อีกทั้งยังนำผลตรวจไปประกอบในการวินิจฉัยโรคและภาวะทางหัวใจอื่นๆ ได้ด้วย เช่น

  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • กล้ามเนื้อหัวใจโตหรือหนา

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

  • หลอดเลือดหัวใจตีบ

  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ 


กรณีที่พบความผิดปกติของหัวใจหรือโรคใดๆ หลังจากตรวจ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการดูแล ป้องกันการลุกลาม และการรักษาที่ตรงจุด เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและการหายจากอาการหรือโรคที่เป็นอยู่