โลหิตจาง เกิดได้จากหลายสาเหตุ
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
04-มิ.ย.-2567

โลหิตจาง เกิดได้จากหลายสาเหตุ

ภาวะเลือดจาง หรือ โลหิตจาง เป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงมีปริมาณลดลงกว่าปกติ ส่งผลให้ร่างกายนำออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้น้อยลง ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ โดยมักจะมีอาการเตือนของโรค ได้แก่ ปวดหัว ใจสั่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ผิวหนังซีดลงหรือเหลืองขึ้น ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ แนะนำให้ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน เพราะหากปล่อยไว้ อาจเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคตได้

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. เกิดจากการสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง เช่น
  • โรคไขกระดูกผิดปกติ
  • โรคขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิก
  • โรคไตวายเรื้อรัง ทำให้ขาดฮอร์โมนที่เป็นตัวกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง โรคในระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
2. เกิดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เช่น
  • โรคธาลัสซีเมีย
  • โรคขาดเอนไซม์ G6PD
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากภูมิคุ้มกันตนเอง
3. เกิดจากการสูญเสียเลือด เช่น
  • การเสียเลือดในทางเดินอาหาร
  • การเสียเลือดทางประจำเดือน
  • การเกิดอุบัติเหตุ
เลือดจาง


อันตรายของภาวะโลหิตจาง

      ภาวะโลหิตจางหากไม่ได้รับการรักษา อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ดังนี้

1. ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยง่าย ทำกิจวัตรประจำวันได้น้อยลงหรือออกกำลังกายได้น้อยลง
2. ผู้ป่วยจะมีปัญหาต่อการทำงานของหัวใจ หัวใจต้องออกแรงสูบฉีดมากขึ้น นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
3. ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ อาจจะส่งผลทำให้มีภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือการที่มีบุตรมีโรคเลือดจาง หรือการที่มีบุตรน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ได้

การรักษาภาวะโลหิตจาง

การรักษาภาวะโลหิตจาง มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การให้ธาตุเหล็กในคนที่มีภาวะขาดธาตุเหล็ก การรักษาโรคในไขกระดูก หรือการฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดแดง เป็นต้น

ดังนั้นผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เริ่มมีคนทักว่าซีดลง ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและเจาะเลือดดูปริมาณความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง นำไปสู่การวิเคราะห์หาสาเหตุของเลือดจางและได้รับการรักษา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนในอนาคต




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5113
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset