เดอร์มอยด์ซีสต์  ซีสต์ในรังไข่ที่ไม่แสดงอาการ แต่เสี่ยงต้องตัดรังไข่
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
28-ต.ค.-2567

เดอร์มอยด์ซีสต์

ซีสต์ในรังไข่ที่ไม่แสดงอาการ แต่เสี่ยงต้องตัดรังไข่

 

ผู้หญิงหลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับซีสต์หรือถุงน้ำที่รังไข่ แต่บางคนอาจไม่คุ้นเคยกับ "เดอร์มอยด์ซีสต์" (Dermoid Cyst) ซึ่งเป็นซีสต์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากเซลล์ที่สามารถพัฒนาเป็นเซลล์อื่นๆ เช่น ไขมัน เส้นผม กระดูก หรือแม้แต่ฟัน เซลล์เหล่านี้มักปรากฏในรังไข่ตั้งแต่กำเนิด และเมื่อได้รับการกระตุ้นจากปัจจัยบางอย่าง ก็จะพัฒนาเป็นถุงน้ำในรังไข่ เรียกว่า "เดอร์มอยด์ซีสต์"

สิ่งที่น่าสนใจคือ เดอร์มอยด์ซีสต์มักไม่แสดงอาการ ทำให้บางคนอาจไม่รู้ว่ามีซีสต์อยู่ จนกว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ถุงน้ำแตกหรือบิดขั้ว หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าเกิดจากสาเหตุเหนือธรรมชาติ เช่น โดนของหรือคุณไสย แต่ในความเป็นจริง เดอร์มอยด์ซีสต์เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในผู้หญิง แม้ในอายุน้อยหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์

ตรวจให้รู้ก่อนสาย

แม้ว่าซีสต์ชนิดนี้จะไม่แสดงอาการชัดเจน แต่การตรวจภายในและอัลตร้าซาวด์เป็นประจำทุกปีมีความสำคัญมาก เพราะถ้าถุงน้ำเติบโตขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจนต้องตัดรังไข่ออกได้

ปวดท้องน้อย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

1. บิดขั้วรังไข่ (Torsion) : เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อย อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้ต่ำ หากไม่ได้รับการรักษา รังไข่อาจขาดเลือดจนเน่า และต้องตัดรังไข่ออก

2. ถุงน้ำแตกหรือรั่ว (Rupture or Leakage) : ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยฉับพลัน หากมีเลือดออกในช่องท้องมาก อาจเกิดภาวะช็อก

3. ติดเชื้อ (Infection) : แม้ว่าจะพบได้ยาก แต่หากเกิดขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงและปวดท้องน้อยรุนแรง ต้องรักษาโดยด่วน

4. เสี่ยงเป็นมะเร็ง (Cancer) : แม้ว่าโอกาสเกิดมะเร็งจากเดอร์มอยด์ซีสต์จะมีน้อย (ประมาณ 1%) แต่ก็ควรเฝ้าระวัง โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุน้อย

การรักษาเดอร์มอยด์ซีสต์

เดอร์มอยด์ซีสต์จำเป็นต้องรักษาด้วย การผ่าตัด เนื่องจากไม่สามารถรักษาด้วยยาเหมือนซีสต์ชนิดอื่นๆ วิธีการผ่าตัดมีดังนี้ :

1. การผ่าตัดเลาะถุงน้ำ (Ovarian Cystectomy) : เหมาะกับกรณีที่ถุงน้ำยังไม่ใหญ่และรังไข่ยังไม่เน่า การตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดการเสียเนื้อรังไข่ เหมาะกับผู้ที่มีแผนจะมีบุตรในอนาคต

2. การผ่าตัดรังไข่ข้างที่มีปัญหาออก (Unilateral Oophorectomy) : ใช้ในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากหรือรังไข่เน่า ซึ่งจำเป็นต้องตัดออก รังไข่อีกข้างที่ปกติยังสามารถผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้

ผ่าตัดซีสต์


การผ่าตัดแบบไม่เปิดหน้าท้อง (Advanced Minimal Invasive Surgery - MIS)

ปัจจุบัน การผ่าตัดเดอร์มอยด์ซีสต์สามารถทำได้โดยไม่ต้องเปิดหน้าท้อง โดยใช้การผ่าตัดผ่านกล้องที่มีแผลเล็กมากเพียง 5 -10 มิลลิเมตร ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ลดโอกาสเกิดพังผืด และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ


การรักษาเดอร์มอยด์ซีสต์ที่ถูกต้องและทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

นพ.ภาณุรัก เกตุพงษ์

📂บทความสุขภาพ📂
📖มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตัวร้ายที่ป้องกันได้
📖ตรวจมะเร็งปากมดลูก เตรียมตัวอย่างไรบ้าง
📖HPV ไวรัสร้าย ภัยสุขภาพสตรี
📖กลุ่มโรคมะเร็งสตรี ที่พบบ่อย




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5420 
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset