จากสถิติพบว่า..ผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยเฉลี่ยปีละ 6,000 ราย และเสียชีวิตสูงถึง 7 คนต่อวัน โดยมีสาเหตุหลักๆ มาจาก “การติดเชื้อ HPV” เชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ และสิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้น..คือเมื่อได้รับเชื้อ HPV แล้วจะไม่มีอาการใดๆ จนกว่าเชื้อจะพัฒนากลายเป็นมะเร็ง!!!
หัวข้อที่น่าสนใจ
ตกขาวหรือประจำเดือนแบบไหน? ที่เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก”
การมีตกขาวมากผิดปกติ ทั้งที่เป็นน้ำและข้น เป็นมูก ตกขาวมีเลือดหรือหนองปน อาจจะมีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ได้ อาการเหล่านี้..ล้วนเป็นสัญญาณเตือนถึง “มะเร็งปากมดลูก” ตลอดจนการมีประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมานาน การมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือมีของเหลวออกทางช่องคลอด มีเลือดออกหรือมีอาการเจ็บเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือปวดท้องน้อยร่วมด้วย
ปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิง...มีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงขึ้น
การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย (อายุต่ำกว่า 17-18 ปี) เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความไวต่อสารก่อมะเร็งสูง โดยเฉพาะ..เชื้อ HPV
การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพราะทำให้โอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV จากฝ่ายชายเพิ่มสูงขึ้น
การมีบุตรหลายคน หรือมากกว่า 3 คนขึ้นไป โดยมีรายงานพบว่า..การมีบุตรมากทำให้โอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเพิ่มสูงขึ้น 2-3 เท่า
การไม่รักษาความสะอาดบริเวณช่องคลอด หรือปล่อยให้มีแผลอักเสบที่ปากมดลูกโดยไม่รักษา
รับประทานยาคุมติดต่อกันเป็นเวลานาน (มากกว่า 5 ปี ความเสี่ยงยิ่งเพิ่มขึ้น)
พฤติกรรมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการรับประทานผักผลไม้น้อยเกินไป
3 วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
Pap smear เป็นการตรวจภายในร่วมกับการตรวจทางเซลล์วิทยาเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ที่อาจเกิดจากเชื้อมะเร็งปากมดลูกในระยะเริ่มต้น โดยหากแพทย์พบความผิดปกติก็จะทำการเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก เพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
ThinPrep เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ให้ผลการตรวจที่ละเอียดกว่า Pap smear โดยแพทย์จะทำการเก็บเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกด้วยอุปกรณ์เฉพาะ ก่อนจะนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ
HPV Testing เป็นการตรวจหาเซลล์มะเร็งปากมดลูกร่วมกับการตรวจ DNA ของเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเชื่อมโยงกับมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นเทคนิคการตรวจระดับชีวโมเลกุล..ที่สามารถค้นหาเชื้อ HPV ได้ในระยะก่อนเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ทำให้ป้องกันและรักษาการติดเชื้อ HPV ได้ก่อนที่เชื้อจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก
แนวทางการรักษามะเร็งปากมดลูก
การผ่าตัดรักษา ในการรักษาโดยการผ่าตัดนั้น จะใช้ในการรักษามะเร็งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ขั้นต้น คือช่วงที่เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นบริเวณปากมดลูกและช่องคลอด
การใช้รังสีรักษา เป็นการรักษาสำหรับมะเร็งระยะที่ 2 ขึ้นไป หรือในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดรักษาหรือให้ยาเคมีบำบัดได้
การให้ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาสำหรับมะเร็งระยะลุกลาม โดยอาจใช้การให้ยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว หรือรักษาร่วมกับวิธีอื่น เช่น การใช้รังสี
แม้ปัจจุบันจะมีวิธีการรักษามะเร็งปากมดลูก แต่ส่วนใหญ่มักส่งผลข้างเคียงหลังการรักษา สร้างความทรมานให้กับผู้ป่วย คงจะดีกว่า..ถ้าเราเลือกที่จะ “ป้องกัน” ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ รวมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค