ข้าวเหนียวมะม่วง Mango Sticky Rice เมนูขนมหวานไทยๆ ข้าวเหนียวมูนนุ่มๆ ราดด้วยกะทิหอมๆ ความหวานหอมและความอร่อยผสมกับมะม่วงสุกจากสายพันธุ์น้ำดอกไม้หรืออกร่อง โรยด้วยถั่วซีกอบกรอบ สัมผัสรสชาดรู้สึกถึงความหนึบ นุ่ม ละมุน หอม หวาน มัน
การรับประทานข้าวเหนียวมะม่วง
มะม่วงสุกครึ่งลูก (ขนาดกลาง) จะได้พลังงานประมาณ 70 กิโลแคลอรี่ ส่วนข้าวเหนียวมูนให้กิน 100 กรัม หรือ 1 ขีด จะให้พลังงาน 280 กิโลแคลอรี่ เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 350 กิโลแคลอรี่ ซึ่งเทียบเท่ากับแคลอรี่ที่ได้จากอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด เช่น โดนัทเคลือบคาราเมล พิซซ่า และแฮมเบอร์เกอร์ ของพวกนี้ก็ให้พลังงานประมาณ 350 กิโลแคลอรี่ แต่ข้าวเหนียวมะม่วงมีคุณค่าทางโภชนาการและเชิงอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่า- กินข้าวเหนียวมะม่วงช่วงเวลากลางวัน เพราะกลางวันเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรหลีกเลี่ยงการกินมื้อเย็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่ต้องทำน้อยกว่าช่วงกลางวัน พลังงานที่ได้รับเข้าไปอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้
- ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว ต้องระวัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ต้องระมัดระวังการกินข้าวเหนียวมะม่วง เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารที่มีทั้งน้ำตาลและไขมันปริมาณที่ค่อนข้างสูง จึงแนะนำให้กินสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง และควรลดปริมาณข้าวเหนียวลงให้เหลือสักครึ่งขีด กรณีที่ต้องการกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์
- คนสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว อาจจะกินข้าวเหนียวมะม่วงได้มากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ต้องไม่ลืมว่าข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานเทียบเท่ากับการกินอาหารมื้อหลัก 1 มื้อเลยทีเดียว (บะหมี่แห้ง 1 ชาม พิซซ่า 1 ชิ้น) เพราะฉะนั้นต้องไม่ลืมออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไป ตัวอย่างการออกกำลังกายที่จะเผาผลาญพลังงานที่ได้จากการกินข้าวเหนียวมะม่ง 1 จาน ได้แก่ วิ่ง 45 นาที ว่ายน้ำ 32 นาที ปั่นจักรยาน 60 นาที และเดิน 100 นาที จึงขอแนะนำว่าทางที่ดีไม่ควรกินเกิน 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
- เลือกกินข้าวเหนียวดำ หรือข้าวเหนียวที่มูนด้วยน้ำกะทิที่ผสมสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ดอกอัญชัน แครอต ขมิ้น และใบเตย เพราะจะได้รับสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มากกว่าการกินข้าวเหนียวขาว
- กินมะม่วงแก่จัด เพื่อให้ได้รสชาติดีและสารอาหารจากมะม่วงครบถ้วน ควรซื้อมะม่วงที่แก่จัด และควรปล่อยให้สุกตามธรรมชาติ เนื่องจากมะม่วงที่บ่มแก๊สจะให้กลิ่นและรสที่ไม่ดีเท่ากับมะม่วงสุกตามธรรมชาติ วิธีการสังเกตคือ มะม่วงที่แก่จัดนั้นผลจะอวบ ด้านล่างของมะม่วงจะไม่แหลม ส่วนมะม่วงที่เก็บมาตอนไม่แก่จัด แล้วนำมาบ่มแก๊สผิวจะเหี่ยว
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือไขมันในเลือดสูง ควรกินมะม่วงสุกแต่น้อย กินครั้งละไม่เกิน 1 ผล ขนาดกลาง และใน 1 สัปดาห์ไม่ควรกินเกิน 2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยโรคไตควรงดกินมะม่วงสุก เพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูง

วิธีเลือกมะม่วงสุก สำหรับข้าวเหนียวมะม่วง
มะม่วงสุกที่นิยมนำมาทานกับข้าวเหนียวมะม่วงคือ มะม่วงอกร่องและมะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งมีรสหวานหอม ควรเลือกมะม่วงสุกที่ผลอวบและเปลือกมีรอยดำบ้างเล็กน้อย เพราะจะแน่ใจได้ว่ามะม่วงสุกจริงหรือสุกเองตามธรรมชาติ ลองใช้นิ้วกดเบาๆ หากเนื้อมะม่วงยุบลงไปเล็กน้อยแปลว่าสุกได้ที่แล้ว แต่หากยังไม่ยุบแสดงว่าเป็นมะม่วงที่โดนบ่มแก๊สให้ผิวเหลืองแต่เนื้อข้างในไม่สุกอาจจะแข็งหรือมีรสเปรี้ยว
ประโยชน์ของมะม่วงสุก
มะม่วงสุกที่นอกจากจะรสชาติดีหวานอมเปรี้ยวแล้ว ยังมีสารอาหารมากมายที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ในมะม่วงมีวิตามินเอ และวิตามินซี ดีต่อผิวพรรณ ดวงตา กระดูก และระบบภูมิคุ้มกัน
มะม่วงอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ช่วยดูดซึมน้ำ ทำให้อุจจาระนิ่ม ขับถ่ายง่าย ป้องกันอาการท้องผูก มะม่วงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชื่อว่า แมงจิเฟอริน (Mangiferin) ช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือด ป้องกันมะเร็ง จอประสาทตาเสื่อม อัลไซเมอร์ รวมถึงอาการข้ออักเสบ
มะม่วงนับเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีรสชาติหวาน และมีเส้นใยอาหารหรือไฟเบอร์น้อย เมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น ๆ แต่ความหวานที่มีอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลเสียแก่ร่างกาย สำหรับผู้ที่ต้องการรับประทานมะม่วงให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 2 หน่วยบริโภค หรือประมาณ 160 กรัม โดยปริมาณผักและผลไม้ที่ควรจะได้รับในแต่ละวัน คือ 400 กรัม ผู้บริโภคอาจรับประทานผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย หรือผลไม้ที่มีเส้นใยอาหารสูงอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กล้วย แอปเปิ้ล ส้ม เบอร์รี่ต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานมะม่วง ผลไม้ที่มีรสหวาน หรือผลไม้ที่ประกอบด้วยน้ำตาลจำนวนมาก เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
แผนกตรวจสุขภาพ โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
02 818 9000 ต่อ 113
