การเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR)
โรงพยาบาลเปาโล
28-เม.ย.-2566

การเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR) คืออะไร?

การเอกซเรย์ปอด หรือ Chest X-ray : CXR คือ การตรวจบริเวณทรวงอกด้วยการฉายรังสีเอกซ์ เพื่อคัดกรองและหารอยโรคของอวัยวะต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับปอด เพราะการเอกซเรย์ปอดจะสามารถตรวจพบจุดหรือก้อนที่เนื้อปอด เห็นความผิดปกติของเยื่อหุ้มปอด และเส้นเลือดในปอด รวมถึงอวัยวะใกล้เคียงที่อยู่ในบริเวณทรวงอกด้วย

โดยภาพถ่ายเอกซเรย์จะปรากฏบนแผ่นฟิลม์เป็นสีดำ สีเทา และสีขาว ซึ่งความเข้มข้นของสีจะเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะโครงสร้างของอวัยวะต่างๆ แต่ละส่วน เช่น สีดำเกิดจากบริเวณเนื้อเยื่อที่มีอากาศที่เป็นส่วนของปอด สีขาวเกิดจากความเข้มข้นสูงของสารแคลเซียมที่เป็นส่วนของโครงสร้างกระดูก เป็นต้น


ใครบ้างที่ควรตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR)?

ผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจเอกซเรย์ปอด (CXR) คือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดชนิดต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งปอด ดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก

  • ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการทางปอด

  • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ปอดอักเสบ และวัณโรค

  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเกิดจากการติดเชื้อหรือจากการได้รับมลพิษในอากาศ รวมถึงฝุ่น PM2.5

  • ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมานานเกิน 10 ปี มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสองเป็นประจำ

  • ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่มีประวัติเคยสูบบุหรี่ แม้ในปัจจุบันจะเลิกสูบแล้ว

  • ผู้ที่ต้องทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะและสารพิษต่างๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นแร่ใยหิน (Asbestos) โครเมียม (Chromium) เรดอน (Radon) นิกเกิล (Nickel) ก๊าซกัมมันตรังสี (Radon) หรือได้รับมลพิษจากการเผาไหม้เครื่องยนต์ เช่น จากรถยนต์ หรือควันจากโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประจำ

  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคปอด หรือมีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด


ขั้นตอนการตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR)

ผู้เข้ารับการตรวจสวมชุดที่ทางโรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้ โดยผู้หญิงต้องถอดเสื้อชั้นในออกและรวบผมขึ้นให้พ้นบริเวณต้นคอ เมื่อพร้อมแล้วเจ้าหน้าที่จะช่วยจัดท่าการยืนให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจที่หน้าเครื่องเอกซเรย์ จากนั้นจะให้สัญญาณหรือแจ้งให้ผู้เข้ารับการตรวจสูดหายใจลึกๆ แล้วกลั้นหายใจ เจ้าหน้าที่จะทำการฉายรังสีเพื่อถ่ายภาพเอกซเรย์โดยใช้เวลาเพียง 1-2 วินาที หลังเสร็จขั้นตอนนี้ ผู้เข้ารับการตรวจจะเปลี่ยนเสื้อผ้ากลับตามเดิม และรอฟังผลการตรวจจากแพทย์ผู้สั่งตรวจ ซึ่งจะได้รับภาพเอกซเรย์และข้อมูลต่างๆ ภายในไม่กี่นาทีหลังตรวจเสร็จ


การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR)

  • ไม่ต้องเตรียมตัวใดๆ เป็นพิเศษ

  • ไม่ต้องงดอาหาร น้ำ หรือยาใดๆ

  • ต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับหรือเสื้อผ้าที่มีส่วนประกอบของโลหะ โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก 

  • กรณีผู้เข้ารับการตรวจเคยได้รับการผ่าตัด และมีการฝังอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนที่เป็นโลหะไว้ในร่างกาย ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน

  • กรณีหญิงตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน เพราะรังสีเอกซ์จะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้

  • สำหรับผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้น จะทำให้การกลั้นหายใจทำได้ไม่เหมือนคนทั่วไป จึงควรแจ้งแพทย์ก่อนทำการเอกซเรย์


การแปรผลและการประเมินผลตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray : CXR)

นอกจากการแปรผลจากภาพถ่ายเอกซเรย์ปอดแล้ว แพทย์อาจใช้การซักประวัติ ผลการตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจทางพยาธิวิทยาอื่นๆ มาเป็นข้อมูลร่วมในการวินิจฉัยโรค เช่น อาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด มีการบาดเจ็บของอวัยวะภายในทรวงอก และอาการหายใจที่ไม่ปกติ 

โดยผลการเอกซเรย์ปอดจะดูได้ถึงความผิดปกติของรูปร่าง จุดหรือก้อนในปอด เส้นเลือดในปอด เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มอวัยวะส่วนต่างๆ ในบริเวณทรวงอก โครงสร้างกระดูกซี่โครง กระดูกไหปลาร้า รวมถึงขนาดของหัวใจและกะบังลม ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่างๆ ได้อย่างตรงจุด เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม มะเร็งปอด และโรคอื่นๆ ของอวัยวะภายในทรวงอก

กรณีตรวจพบจุดหรือก้อนที่ปอดบนฟิล์มเอกซเรย์ หากมีขนาดต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร ความเสี่ยงที่จะเป็นเซลล์มะเร็งค่อนข้างน้อย แต่หากมีขนาดใหญ่กว่า 10 มิลลิเมตรขึ้นไป โอกาสที่ก้อนเนื้อนั้นจะเป็นเซลล์มะเร็งก็เป็นไปได้มาก

ทั้งนี้ หลังจากตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ หรือนัดให้ทำการเอกซเรย์ปอดซ้ำภายใน 3-6 เดือน เพื่อติดตามการเติบโตของก้อนเนื้ออย่างใกล้ชิด หากก้อนเนื้อนั้นมีอัตราการขยายตัวที่เร็วผิดปกติ ควรได้รับการตรวจเพิ่มเพื่อการวินิจฉัยโรคที่ชัดเจนและเริ่มรักษาโดยทันที สำหรับการตรวจพบมะเร็งในระยะแรกๆ ที่ยังเป็นเพียงก้อนเนื้อเล็กๆ จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

นอกจากนี้ การเอกซเรย์ปอดยังอาจทำเพื่อการเตรียมพร้อมการก่อนผ่าตัด การติดตามอาการหลังการผ่าตัด ตรวจก่อนเข้าทำงาน หรือเพื่อการเดินทางไปต่างประเทศ เป็นต้น