รู้ไหม? ยิ่งสูงวัย..ยิ่งต้องใส่ใจตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลเปาโล
10-มี.ค.-2563
โรคทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไหร่หรือเพศไหนก็ล้วนเกิดขึ้นได้ แต่สำหรับ “ผู้สูงวัย” แล้ว ความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายสามารถส่งผลให้โอกาสการเกิดโรคมีมากยิ่งขึ้น อย่างระบบทางเดินอาหารก็เป็นอีกจุดสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคตับ นิ่วในถุงน้ำดี หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ และด้วยความรุนแรงของโรคเหล่านี้นี่ล่ะ… การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารในผู้สูงอายุ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม!!

ทำไม? อายุยิ่งมาก...ยิ่งเสี่ยงโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร

แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น ระบบต่างๆ ในร่างกายก็มีความเสื่อมมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหาร เช่น น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารที่มีความเป็นกรดลดลง ทำให้ย่อยอาหารได้ช้า มีอาการท้องอืด การลดลงของจำนวนเซลล์ตับตามช่วงอายุ ทำให้ปริมาณเลือดที่ไหลเวียนผ่านตับลดลง แนวโน้มในการเกิดพิษจากยาและแอลกอฮอล์จึงสูงกว่าคนอายุน้อย หรือลำไส้ที่มีการเคลื่อนตัวช้าลง ทำให้เกิดภาวะท้องผูกได้ง่ายขึ้น

โรคทางเดินอาหาร...มีอะไรบ้าง?

ถ้าพูดถึงโรคทางเดินอาหารแล้วนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายโรคและเกิดมาจากหลายสาเหตุ โดยโรคทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย คือ ภาวะแปรปรวนของกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคกรดไหลย้อน หรือโรคร้ายแรง อย่าง มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งตับ

“มะเร็งทางเดินอาหาร” โรคร้ายที่ผู้สูงวัยควรระวัง

แม้ว่ามะเร็งทางเดินอาหารจะเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย แต่เมื่อสูงวัยหรือมีอายุ 50 ปีขึ้นไปความเสี่ยงก็เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร หรือแม้แต่โรคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง แม้จะรักษาหายแล้วแต่กลับมาเป็นซ้ำเรื่อยๆ ก็อาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือการมีแผลในกระเพาะอาหารเรื้อรังจนกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ ในระบบทางเดินอาหารนับเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็ง

อาการเตือน...อาจเสี่ยงมะเร็งทางเดินอาหาร

  • ปวดท้อง ท้องอืด มีอาการเกร็งในท้อง
  • ไม่ผายลม ท้องอืด ซึ่งเกิดจากลำไส้อุดตัน
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสียหรือท้องผูก หรือทั้งสองอย่างสลับกัน
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • อาเจียนเป็นเลือด
  • ถ่ายเป็นเลือด
  • มีภาวะโลหิตจาง
  • อาจคลำพบก้อนบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย

วินิจฉัยให้รู้ชัด...ด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร

ลักษณะอาการที่มักเริ่มต้นด้วย “อาการปวดท้อง” ทำให้หลายครั้งผู้ป่วยสับสนและแยกโรคไม่ออก “การส่องกล้องทางเดินอาหาร” จึงเป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ช่วยให้แพทย์ค้นหาสาเหตุของอาการได้อย่างเจาะลึก โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารนั้น สามารถแบ่งการตรวจออกเป็น 3 แบบ คือ

1. การส่องกล้องเพื่อตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และสำไส้เล็กส่วนต้น (Gastroscopy,EGD) เป็นเทคโนโลยีการใช้กล้องส่องเข้าไปทางปาก ผ่านหลอดอาหารลงไปภายในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง ใช้เวลาการตรวจประมาณ 10-15 นาที หากตรวจพบติ่งเนื้อ หรือเนื้องอก แพทย์สามารถทำการรักษาได้ทันที หรือสงสัยว่าอาจเป็นเนื้อร้าย สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ในคราวเดียวกัน

การเตรียมตัว : คนไข้ต้องงดน้ำ งดอาหาร 6-8 ชั่วโมง กรณีคนไข้ที่มีฟันปลอมให้ถอดออก ถ้าถอดได้ หรือมีฟันซี่ใดโยก ควรแจ้งแพทย์ทราบ

2. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscope) การส่องกล้องวิธีนี้จะส่องกล้องผ่านเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนกลาง ส่วนต้น และลำไส้เล็กส่วนปลาย โดยคนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บ มีความปลอดภัย ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที ขึ้นอยู่กับความยาวลำไส้ใหญ่ของคนไข้ อีกทั้งสามารถตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องผ่าตัด และสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ทันที

การเตรียมตัว : งดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง รับประทานยาระบายก่อนตรวจเพื่อเคลียร์ลำไส้ให้สะอาด

3.การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (ERCP) เป็นการตรวจรักษาโดยการกล้องส่องเข้าไปทางปากผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น จนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน เช่น ภาวะดีซ่านนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี ท่อทางเดินน้ำดีอุดตัน ท่อตับอ่อนอุดตัน เนื้องอกท่อทางเดินน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบจากนิ่วในท่อทางเดินน้ำดี

การเตรียมตัว : งดน้ำและอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และงดยาละลายลิ่มเลือดอย่างน้อย 7 วัน

หากพูดถึงโรคมะเร็งแล้ว..แน่นอนว่าหลายคนสัมผัสได้ถึงสัญญาณอันตราย แต่ความวิตกกังวลนี้จะหมดไปได้ เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็งได้เร็วก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายได้ ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรเข้ามารับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารเป็นประจำทุกๆ 3-5 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์