นิ่วในถุงน้ำดี กับการปวดท้องที่แตกต่าง
โรงพยาบาลเปาโล
22-มิ.ย.-2564
เมื่อพูดถึง “นิ่ว” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงนิ่วในระบบไตหรือระบบปัสสาวะ แต่ยังมีนิ่วอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นใน “ถุงน้ำดี” อวัยวะที่เราไม่ค่อยจะรู้จักนัก อาจเป็นเพราะโรคที่เกี่ยวกับถุงน้ำดีนั้นพบไม่มากเท่ากับโรคในอวัยวะภายในอื่นๆ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มี วันนี้เราจึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกับถุงน้ำดี และโรคนิ่วในถุงน้ำดี เผื่อวันใดวันหนึ่งเรามีอาการที่ใกล้เคียงจะได้รู้วิธีสังเกต

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร?

ถุงน้ำดีมีลักษณะเป็นวงรีคล้ายลูกแพร์ยาวประมาณ 4 นิ้ว อยู่ใต้ตับบริเวณส่วนบนขวาของช่องท้อง มีหน้าที่เก็บน้ำดีจากตับเอาไว้ พอเรากินอาหาร ถุงน้ำดีก็จะบีบน้ำดีออกมาเพื่อช่วยย่อยไขมัน แต่หากเรากินไขมันมากเกินไปและย่อยไม่หมดก็มีโอกาสเกิดการสะสมในถุงน้ำดี เมื่อมากเข้าจนขาดความสมดุลก็จะเกิดปฏิกิริยาการตกตะกอนเป็นผลึกของคอเลสเตอรอลผสมกับการมีหินปูนมาจับกลายเป็น ‘นิ่วในถุงน้ำดี’ ในที่สุด นิ่วที่เกิดขึ้นอาจะเป็นแบบเล็กๆ หลายก้อน หรือก้อนใหญ่ก้อนเดียวก็ได้

เราเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากน้อยแค่ไหน

ถ้าคุณเป็นผู้หญิงก็เสี่ยงกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า และยิ่งถ้าอายุมากกว่า 40-60 ขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นมากขึ้นอีก โดยเฉพาะผู้หญิงสูงวัยที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือเป็นหญิงตั้งครรภ์ หรือกินยาคุมกำเนิด หรือกินฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนผู้ชายที่ชอบสังสรรค์ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ และใครก็ตามที่กินอาหารมัน-หวานบ่อยๆ ก็เสี่ยงเช่นกัน เพราะการดื่มกินแบบนี้มักทำให้มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง และมันคือปัจจัยอันดับต้นๆ ในการเกิดโรคนี้นั่นเอง ส่วนผู้ที่ป่วยเป็นโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย จะมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรังซึ่งทำให้มีสารบิลิรูบินในน้ำดีสูงขึ้น ผู้ที่เป็นโรคตับแข็งจากการดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์และน้ำตาลในเลือดสูงก็มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนทั่วไป

อาการแบบนี้ อาจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเป็นโรคที่พบได้ประมาณ 10-15% คนทั่วไป แต่โดยปกติแล้วผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าครึ่งหนึ่งมักไม่มีอาการจึงไม่ต้องรักษา แต่หากนิ่วในถุงน้ำดีไปอุดกั้นทางออกของน้ำดี หรือเคลื่อนไปอุดตัดที่ท่อถุงน้ำดี หรืออุดท่อน้ำดีที่เป็นท่อร่วมจากตับก็จะมีการอักเสบ โดยมีอาการเริ่มจากระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องแถวๆ ลิ้นปี่หลังกินอาหารมันๆ บางรายถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณสะบักขวาหรือไหล่ด้านขวา อาการปวดนี้มักเกิดแค่ 15 นาทีแล้วดีขึ้น และจะหายไปในราว 2-6 ชั่วโมง พอหายแล้วอาจจะทิ้งระยะไปเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจึงกลับมาเป็นอีก ซึ่งหากปวดท้องทุกวันหรือบ่อยมากๆ มักเป็นโรคอื่นมากกว่า หากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีอาการจะหนักขึ้นจนถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง และคันตามตัว ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระสีซีดเทา เป็นลม เมื่อถึงขั้นนี้แล้วต้องรีบไปหาหมอด่วน จะเห็นได้ว่าอาการของโรคในระยะแรกๆ ก็แค่ปวดท้อง ซึ่งอาจทำให้เราคิดว่าเป็นโรคอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี เราจึงควรสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ และถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ เพราะการตรวจพบเร็วจะทำให้รักษาง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

เมื่อสงสัยให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

  • เริ่มจากการซักประวัติ อาการ ผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยควรจดจำอาการและระยะเวลาที่เป็นเพื่อแจ้งให้หมอทราบ ข้อมูลที่ชัดเจนจะช่วยให้การวินิจฉัยโรคร่วมกับการตรวจได้ผลที่แม่นยำขึ้น
  • แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของตับว่ามีการติดเชื้อ หรือมีตับอ่อนอักเสบร่วมด้วยหรือไม่
  • เมื่อแพทย์สงสัยว่าจะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะทำการอัลตร้าซาวนด์ช่องท้องส่วนบน จะทำให้ทราบผลได้ชัดเจน
  • หากแพทย์สงสัยว่าอาจจะมีนิ่วหลุดไปในท่อน้ำดีด้วย แพทย์จะทำการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดี เพื่อเอกซเรย์ดูว่าในท่อน้ำดีมีนิ่วหรือไม่ ถ้ามีอาจจะรักษาด้วยวิธีการคล้องนิ่วในท่อน้ำดีออก
เมื่อทำการตรวจวินิจฉัยโรคแล้ว แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจโรคและทางเลือกในการรักษาด้วยวิธีต่างๆ เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

นิ่วในถุงน้ำดี รักษาตามความรุนแรงของโรค

การรักษานิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถรักษาด้วยการใช้เครื่องสลายนิ่วได้ เพราะสาเหตุการเกิดนิ่วเป็นคนละแบบกับนิ่วในระบบไตและนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ทางเลือกในการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ดังนี้
  1. ผู้ป่วยที่ยังอายุน้อย สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี และไม่มีการอักเสบของนิ่วในถุงน้ำดี แพทย์จะยังไม่ทำการรักษาหรือผ่าตัด แต่จะให้สังเกตอาการและพบแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพราะผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีจำนวนมากจะไม่มีอาการ และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเลยตลอดชีวิต
  2. ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ควรผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีออกในขณะที่ถุงน้ำดียังไม่เกิดการอักเสบ เพราะหากปล่อยให้มีการอักเสบจะทำให้การผ่าตัดเกิดความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
  3. รักษาด้วยการผ่าตัด เนื่องจากการรักษานิ่วในถุงน้ำดีด้วยการใช้ยาละลายนิ่วมักไม่ค่อยได้ผล และต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน เมื่อหยุดยาก็อาจเกิดนิ่วในถุงน้ำดีซ้ำได้อีก จึงไม่นิยมรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์จึงแนะนำว่า ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการแล้ว ควรผ่าตัดในทุกราย โดยการผ่าตัดที่นิยมกันมี 2 ประเภท คือ
      • การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Cholecystectomy)
    ปัจจุบันจะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการอักเสบมากหรือถุงน้ำดีแตกทะลุในช่องท้อง
      • ผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy)
    นวัตกรรมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน คือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) ใช้ในกรณีไม่มีถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน โดยแพทย์จะทำการเจาะรูเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 ซม. 3 จุด และขนาด 1 ซม. ที่หน้าท้องบริเวณสะดืออีก 1 จุด เพื่อใส่กล้องและเครื่องมือผ่านรูผนังหน้าท้อง การผ่าตัดนี้ศัลยแพทย์จะเห็นอวัยวะต่างๆ และถุงน้ำดีผ่านจอภาพ แพทย์จะทำการเลาะถุงน้ำดีออกจากตับ นำใส่ถุงที่ออกแบบเป็นพิเศษ และนำออกมาตรงรูที่เจาะไว้บริเวณสะดือ แพทย์จะใช้คลิปหนีบห้ามเลือดแทนไหมเย็บแผล หลังจากตรวจดูการผ่าตัดว่าทุกขั้นตอนเรียบร้อยดีแล้ว จึงเย็บปิดแผลที่ผิวหน้าท้องซึ่งเป็นเพียงแผลเล็กๆ เป็นอันเสร็จ

ผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้องดีอย่างไร

การผ่าตัดแบบส่องกล้องนี้ ได้รับความนิยมเนื่องจากผลการรักษามีโอกาสสำเร็จสูง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว แผลมีขนาดเล็กมาก ดูแลง่าย และมีโอกาสติดเชื้อน้อย อาการปวดแผลผ่าตัดก็น้อย เมื่อแผลหายก็จะมีเพียงรอยเล็กๆ บนหน้าท้องเท่านั้น แถมยังใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้ หลังจากกลับบ้านแล้วราว 1 สัปดาห์ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ ซึ่งต่างจากการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกที่จะเจ็บกว่า และจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลนานกว่า และยังต้องกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านอีกราว 1 เดือนกว่าจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี คือนิสัยการกินที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันสูงมาตั้งแต่เด็กและปล่อยให้อ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หากใครเข้าข่ายนี้และเริ่มมีอาการท้องอืด จุกเสียดบ่อยๆ หลังมื้ออาหาร โดยเฉพาะหลังกินอาหารมันๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงและรีบรักษาจะดีกว่า เพราะไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ควรรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นจะดีที่สุด