เทคนิค การรักษาโรคไทรอยด์
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
09-ก.พ.-2566

การผ่าตัดรักษา โรคไทรอยด์

 

ต่อมไทรอยด์ เป็นอีกหนึ่งต่อมไร้ท่อที่สำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพราะเป็นต่อมที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญ ควบคุมการสร้างพลังงานให้กับร่างกาย เร่งกระบวนการหายใจ การหลั่งเหงื่อ รวมถึงยังช่วยเสริมระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย ซึ่งต่อมไทรอยด์สามารถเกิดภาวะและความผิดปกติได้หลายประเภท เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โรคคอพอก

โดยหากมีการตรวจพบรอยโรคแล้ว ทางแพทย์ก็จะมีการวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยและตำแหน่งที่เกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์ต่อไป ซึ่งหากความผิดปกติยังไม่ถึงขั้นระดับรุนแรง ก็มักจะเริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีการทานยาก่อน แต่หากทานยาแล้วยังไม่สามารถควบคุมฮอร์โมนได้ ไทรอยด์โตขึ้น หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีความพยาธิสภาพรุนแรงกว่าเดิม ไม่ตอบสนองต่อการักษาด้วยยาหรือการกลืนแร่  แพทย์จะพิจารณารักษาโดยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด
1. ผลเจาะดูดชิ้นเนื้อพบว่าเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์
2. ผลเจาะดูดเนื้อพบลักษณะเซลล์ที่ผิดปกติแบบก้ำกึ่ง ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสในการเป็นมะเร็ง
3. ผลเจาะดูดชิ้นเนื้อพบว่าเป็นเนื้องอกชนิดดี แต่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ 2-4 ซม. ขึ้นไป หรือมีจำนวนหลายก้อน และมีอาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดอาหาร หลอดลม เป็นต้น

การผ่าตัดไทรอยด์
ปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดไทรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. การผ่าตัดไทรอยด์แบบแผลเปิด เป็นการผ่าตัดแบบมาตรฐานดั้งเดิมที่มีการใช้กันมานานแล้ว โดยทางแพทย์จะทำการกรีดเปิดแผลบริเวณกลางลำคอของผู้ป่วย หลังจากนั้นก็จะนำเครื่องมือเข้าไปทำการรักษาหรือตัดก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ออกมา โดยเทคนิคนี้สามารถผ่าตัดก้อนเนื้องอกได้ทุกขนาด แต่อาจจะมีผลกระทบต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้เนื่องจากจะมีขนาดรอยแผลอยู่ที่บริเวณกลางลำคอ


2. การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง เป็นเทคนิคการผ่าตัดในรูปแบบใหม่โดยการใช้กล้องผ่าตัดขนาดเล็กเข้ามาเป็นตัวช่วยในการผ่าตัด ซึ่งมีจุดเด่นก็คือมีความแม่นยำ ตรงจุด และแพทย์ไม่จำเป็นต้องกรีดเปิดแผลที่ผิวหนังด้านนอก แต่สามารถเลือกกรีดเปิดแผลตรงบริเวณอื่น เช่น การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ผ่านกล้อง สามารถทาได้หลายวิธี เช่น การผ่าตัดผ่านกล้องทางรักแร้ (Axillary approach) ทางหน้าอก (Chest approach) และทางเต้านม (Breast approach) เป็นต้น การผ่าตัดดังกล่าว สามารถตัดต่อมไทรอยด์ได้ท้ังแบบการผ่าตัดออกข้างเดียว (Lobectomy, Hemithyroidectomy) และแบบ ผ่าตัดออกหมด (Total thyroidectomy) ข้อจำกัดของการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าว คือ ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด จำเป็นต้องเลาะเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังตั้งแต่บริเวณแผลผ่าตัดไปจนถึงต่อมไทรอยด์บริเวณคอ (Remote access) ซึ่งอาจทำให้เกิดพังผืดใต้ผิวหนังหลังผ่าตัดได้มาก และยังอาจเกิดแผลเป็นคีลอยด์บริเวณแผลผ่าตัดใน ผู้ป่วยบางรายได้อีกด้วย

การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องทางช่องปาก Transoral Endoscopic Thyroidectomy Vestibular Approach (TOETVA) เป็นการผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องเทคนิคใหม่  ผู้ป่วยจะไม่มีแผลเป็นให้เห็นจากภายนอก มีเพียงแผลผ่าตัดเล็กขนาด ประมาณ 2 ซม. และ 0.5 ซม. ที่เยื่อบุริมฝีปากทางด้านล่าง นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดอาการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ แผลผ่าตัดหายเร็ว สามารถผ่าตัดทั้ง 2 ข้างออกได้พร้อมกัน รวมไปถึงสามารถเห็นเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงสายเสียงได้อย่างชัดเจน ทำให้การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จึงให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี และมีความปลอดภัย เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากให้ผลลัพธ์ในการผ่าตัดที่ดี ไร้แผลเป็นจากการผ่าตัด ทาให้มีผู้ป่วยทั่วโลกได้รับการผ่าตัดด้วยวิธีนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วใน ระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา


การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดไทรอยด์

หากแพทย์ได้ทำการพิจารณาแล้วว่าควรใช้วิธีการผ่าตัดในการรักษาไทรอยด์ แพทย์ก็จะมีการแนะนำการเตรียมตัวก่อนถึงวันนัดผ่าตัด ซึ่งในผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีคำแนะนำในการเตรียมตัวที่ต่างกันออกไป แต่หลักๆ แล้วอาจมีดังนี้

1. ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องมีการแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวที่กินอยู่ในปัจจุบัน

รวมไปถึงวิตามิน อาหารเสริม สมุนไพรบำรุงสุขภาพทุกชนิด เพราะอาจจะต้องมีการงดยาล่วงหน้า ก่อนเข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะกลุ่มยาละลายลิ่มเลือดหนือมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

2. ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อตรวจความพร้อมของร่างกายก่อนการผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการระบุรายการ

ตรวจสุขภาพที่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วยเอง เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ

3. งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดไทรอยด์

1. รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม ในช่วง 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด

2. รับประทานยาปฏิชีวนะจนครบ 1 สัปดาห์
3. หลีกเลี่ยงการไอ จาม เบ่งถ่าย การออกกำลังกายหรือการออกแรงยกของหนัก อย่างน้อย 1 สัปดาห์
4. เริ่มทำการบริหารรอบปากและลำคอหลังการผ่าตัด 1 สัปดาห์

ปัจจุบัน การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ได้มีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเป็นตัวช่วยในการผ่าตัดรักษาให้มีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่นอุปกรณ์ผ่าตัดผ่านกล้องปิดหลอดเลือดและตัดเนื้อเยื่อโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ (Harmonic energy device) ที่สามารถทำการซีลปิดหลอดเลือดหยุดเลือดและการผ่าตัดแยกเยื่อหุ้มไทรอยด์กับกล้ามเนื้อข้างเคียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การใช้สารเรืองแสงทางการแพทย์ Indocyanine green (ICG) fluorescence ร่วมกับกล้องผ่าตัดที่สามารถเห็นสี ICGทางหลอดเลือดที่มาเลี้ยงต่อมพาราไทรอยด์ช่วยลดการบาดเจ็บและขาดเลือดของต่อมพาราไทรอยด์ในขณะผ่าตัดไทรอยด์ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ลดโอกาสเกิดภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำหลังผ่าตัดและลดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำหลังผ่าตัดไทรอยด์ออกทั้งหมด ,การใช้อุปกรณ์Nerve Monitoring System ซึ่งเป็นเครื่องผ่าตัดตรวจวัดเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล่องเสียง(Recurrent laryngeal nerve) ทำให้ลดการบาดเจ็บทั้งการที่เส้นประสาทถูกตัดขาดและเส้นประสาทช้ำหลังผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น โดยรวมจากเทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นร่วมกับการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญในการผ่าตัด ทำให้ผลลัพธ์การผ่าตัดดี ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนกศัลยกรรม กระดูกและข้อ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5114

Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset