โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะอันตรายที่ต้องรีบรักษา
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
19-ก.ย.-2566
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิต และความพิการลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งในอดีตโรคนี้มักเกิดในผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันกลับพบในกลุ่มคนอายุน้อย หรือกลุ่มคนในวัยทำงานได้เพิ่มขึ้น ซึ่งความรุนแรงของโรคอาจก่อให้เกิดความพิการ หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต


โรคหลอดเลือดสมอง เกิดได้จากสาเหตุใด

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่มี “เวลา” เป็นคู่แข่งในการรักษาชีวิต เพราะเป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเฉียบพลัน เนื่องจากหลอดเลือดสมองตีบ, อุดตัน หรือหลอด เลือดสมองแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย ทำให้การทำงานของสมองบางส่วนหรือทั้งหมดผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดได้จากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้
  • โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยเบาหวาน หัวใจ ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่จัด และขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
  • เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลอดเลือดจะเสื่อมตามไปด้วย
  • คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็น Stroke มาก่อน และในเพศชาย

โรคหลอดเลือดสมอง มีกี่ประเภท
หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองพบได้ประมาณ 80% ซึ่งเป็นภาวะที่สมองขาดออกซิเจน และเลือดไปเลี้ยง โดยเกิดการหนาตัวของผนังหลอดเลือดที่มีไขมันมาสะสมตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลผ่านไปได้น้อยลง ซึ่งถ้าเกิดการสะสม และหนามาก จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอวัยวะ และระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายได้ ซึ่งในบางรายอาจเป็นอัมพฤกษ์ หรืออัมพาตได้
หลอดเลือดสมองแตก (hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด และมีเลือดไหลไปยังเนื้อเยื่อสมอง โดยเป็นภาวะที่อันตรายมาก เนื่องจากปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองที่ลดลงอย่างฉับพลัน จะส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมอง ที่อาจทำให้ผู้ป่วยอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง (อาการเริ่มแรก)
  • พูดไม่ชัด พูดไม่ได้หรือไม่สามารถเข้าใจคำพูดของคนอื่น โดยผู้ป่วยจะรู้สึกสับสน มึนงง พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาในการทำความเข้าใจกับสิ่งที่คนอื่นพูด
  • อาการอ่อนแรง หรือชาบริเวณหน้า แขน ขา ซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอาการอ่อนแรงหรือชาอย่างเฉียบพลัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย
  • ตาข้างใดข้างหนึ่งมัว หรือมองไม่เห็น เห็นภาพซ้อน หรือมีอาการคล้ายม่านบังตาที่เป็นฉับพลัน
  • เวียนศรีษะ ซึ่งอาการจะรุนแรงแบบเฉียบพลัน และมักจะพบร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ปัญหาด้านการเดินเซ การทรงตัวผิดปกติ ซึมลง มึนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน

การป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ของผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือด (Stroke)
  • การหายจากอาการของโรคไม่ได้แปลว่าโรคหายแล้ว เนื่องจากหลอดเลือดมีการเสื่อมอย่างต่อเนื่อง และหลอดเลือดที่ยังไม่อุดตันแต่มีการตีบจะมีโอกาสอุดตันในภายหน้า รวมถึงหลอดเลือดที่โป่งพอง และยังไม่แตกก็อาจมีโอกาสแตกแล้วเกิดอาการขึ้นใหม่ได้
  • สามารถตรวจเช็กการตีบตันของหลอดเลือดคอที่ไปเลี้ยงสมอง Carotid Duplex เป็นประจำทุกปี
  • ผู้ป่วยอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติในบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายมากขึ้น เช่น ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยามากินเองโดยเด็ดขาด หรือมีการหยุดยาเอง รวมถึงหากมีอาการผิดปกติควรรีบมาพบแพทย์ทันที
  • ลด และควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคความดันสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์จำพวกผักผลไม้ให้มากขึ้น


ทั้งนี้ การรักษาโรคหลอดหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด การป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งการป้องกันไม่ให้เกิดโรคคือ การลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากสงสัยว่ามีอาการให้รีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อรักษาเนื้อเยื่อสมองให้มีความเสียหายน้อยที่สุด และสามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ โดยที่ไม่มีความพิการเกิดขึ้น เมื่อรักษาหายเป็นปกติแล้ว


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ

คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188 - 5189