โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝน
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
12-มิ.ย.-2566
เมื่อเข้า “ช่วงหน้าฝน” อากาศก็จะเริ่มเย็นลง และมีความชื้นสูงขึ้น ส่งผลให้การแพร่ระบาดของโรคติดต่อก็เพิ่มมากขึ้น เพราะเชื้อโรคหลายชนิดเติบโตอย่างรวดเร็ว เเละเมื่ออากาศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราลดลง เเละหากเกิดการติดเชื้อก็อาจทำให้ป่วยได้ง่ายขึ้น


โรคระบบทางเดินอาหาร
1. โรคลำไส้อักเสบ จากไวรัส
โรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดการอักเสบที่เยื่อบุผนังบริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดแผลที่ผนังทางเดินอาหาร โดยอาการอักเสบที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดเลือดออกที่ผนังลำไส้ ทำให้ลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น
อาการของโรคลำไส้อักเสบ
  • ปวดท้อง
  • ท้องร่วง หรือถ่ายเป็นเลือด
  • ท้องอืด
การป้องกัน
  • ไม่ควรรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ ควรทานเป็นมื้อเล็ก ๆ 5 หรือ 6 มื้อ และต้องสด สะอาดอยู่เสมอ
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มน้ำ ให้เพียงพอต่อความต้องการใน 1 วัน
  • ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ

2. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
โรคที่ไม่ใช่แค่ท้องเสียอย่างเดียว เนื่องจากเป็นภาวะที่ทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำอย่างผิดปกติตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 1 วัน หรือมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือเลือด ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต โปรโตซัว หรือพยาธิในลำไส้ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร น้ำดื่มที่ไม่สะอาด หรือจากที่ไม่ได้ล้างมือก่อนกินอาหารหรือสัมผัสร่างกาย ซึ่งหากรุนแรงมากขึ้นก็อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย
อาการโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
  • ถ่ายเป็นมูกปนเลือด
  • อาเจียนรุนแรงหลายครั้ง
  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำติดต่อกันหลายครั้ง
การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
  • เลือกกินอาหารที่สด สะอาด ผ่านการปรุงสุกแล้ว
  • หลังเข้าห้องน้ำ หรือก่อนกินอาหาร ต้องล้างมือทุกครั้ง
  • เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลงวัน หนู หรือสัตว์อื่นๆ

โรคระบบทางเดินหายใจ
1. โรคไข้หวัดใหญ่
เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) โดยเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพบได้ตลอดปีเกิดการระบาดมากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว สามารถป่วยซ้ำได้อีกและยังพบในทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตมากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป
อาการโรคไข้หวัดใหญ่
  • ไข้สูง
  • ปวดศรีษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ไอ หรือเจ็บคอ
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
  • ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  • ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ

2. โรคปอดอักเสบ
เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งสาเหตุของโรคจะมีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อรา ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับเชื้อแล้วก็อาจทำให้เกิดการอักเสบในถุงลมของปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างได้
อาการโรคปอดอักเสบ
  • หายใจลำบาก หายใจหอบเร็ว
  • เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้า
  • ไข้สูง หนาวสั่นมาก
การป้องกันโรคปอดอักเสบ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และควันจากไฟหรือท่อไอเสียรถยนต์
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด


โรคที่เกิดจากการย่ำน้ำขัง และเยื่อบุผิวหนัง
1. โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง
เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเกิดจากภาวะที่เยื่อบุตาเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ ทำให้เยื่อบุตาเป็นเยื่อเมือกใสคลุมที่ตาขาว อีกทั้ง สามารถติดต่อกันได้ง่ายผ่านการสัมผัสโดยตรง ไม่ว่าจะ ขี้ตา น้ำตา และการใช้มือสัมผัสหรือใช้สิ่งของ
อาการโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง
  • เยื่อบุตาขาวแดง บวม
  • คัน หรือเคืองตา และมีน้ำตาไหล
  • เปลือกตาแดง ข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง
การป้องกันโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือ โรคตาแดง
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือขยี้ตา
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้
  • หมั่นทำความสะอาดที่พักอาศัยอยู่เป็นประจำ

2. โรคฉี่หนู
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์พาหะอย่างหนู สุนัข สุกร ม้า เป็นต้น ซึ่งจะปนเปื้อนในบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยเข้ามาสู่ร่างกายผ่านผิวหนังที่มีบาดแผล หรือรอยขีดข่วนรวมถึงการต้องลุยน้ำหรือแช่ในน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งในบางรายอาจมีอาการรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการโรคฉี่หนู
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือข้อต่อรุนแรง
  • ไข้สูง หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้อาเจียน
การป้องกันโรคฉี่หนู
  • สวมรองเท้าบูทยาวทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำขัง หรือหากไม่ได้ใส่ เมื่อลุยน้ำเสร็จต้องรีบทำความสะอาดทันที
  • ล้างมือหรือเท้าให้สะอาดทุกครั้ง
  • หมั่นทำความสะอาดบริเวณภายในหรือนอกบ้านให้สะอาดอยู่เสมอ


โรคที่มียุงเป็นพาหะ
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ก็คือ ระยะแรก ระยะวิกฤต และระยะฟื้นตัว ซึ่งโรคไข้เลือดออกจะมีการติดต่อเพิ่มมากขึ้นในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ยุงลายเพาะพันธุ์ได้มากขึ้นจากแหล่งน้ำที่ท่วมขัง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจถึงขั้นอันตรายถึงชีวิตได้
อาการโรคไข้เลือดออก
  • ไข้สูงอย่างต่อเนื่อง
  • เบื่ออาหาร
  • อ่อนเพลีย
การป้องกันโรคไข้เลือดออก
  • ระมัดระวังอย่าให้ยุงกัด เช่น นอนในมุ้ง สวมใส่เสื้อแขนยาวหรือขายาว
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก
  • ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและรอบบ้านให้เป็นระเบียบ


เพราะฉะนั้น การป้องกันที่ดีก็คงเป็นการฉีดวัคซีน และการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำปี เพราะหากร่างกายมีเกราะป้องกันที่แข็งแรง หรือมีภูมิคุ้มกันที่ดี ก็ทำให้ชีวิตของคุณห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆได้ หรือหากมีการติดเชื้อก็อาจมีความรุนแรงน้อยลง รวมถึงโอกาสในการรักษาก็เพิ่มสูงขึ้น


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
คลินิกอายุรกรรม อาคาร 5 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5188, 5189