นอกจาก “มะเร็งเต้านม” และ “มะเร็งปากมดลูก” ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของผู้หญิงแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคมะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระมัดระวัง นั่นก็คือ “มะเร็งรังไข่” ซึ่งโรคนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดกับผู้หญิงที่อายุมากแล้วเท่านั้น เพราะแม้แต่ในผู้หญิงอายุน้อยก็มีโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ได้ และที่น่ากลัวไปกว่านั้น คือมักจะตรวจพบเมื่ออยู่ในระยะที่สามหรือสี่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้เข้ารับการตรวจคัดกรองก่อนมีอาการ
มะเร็งรังไข่คืออะไร?
มะเร็งรังไข่ คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณรังไข่ ซึ่งปกติผู้หญิงจะมีรังไข่อยู่สองข้าง โดยโอกาสที่จะเกิดมะเร็งรังไข่ทั้งสองข้างพร้อมๆ กันมีประมาณ 25% มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่พบได้ตั้งแต่อายุยังไม่มาก โดยความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งการเกิดมะเร็งรังไข่แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1.Germ Cell Tumors มะเร็งฟองไข่ที่เกิดจากเซลล์ตัวอ่อน มีโอกาสพบได้ 5%
2.Epithelium Tumors มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เยื่อบุผิวรังไข่ ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่ คือประมาณ 90%
3.Sex Cord-Stromal Tumors มะเร็งเนื้อรังไข่ ซึ่งพบได้น้อยมาก
“สาเหตุ” ของการเกิดมะเร็งรังไข่ และกลุ่มเสี่ยง
มะเร็งรังไข่เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่จะพบได้มากขึ้นในกลุ่มเสี่ยง ต่อไปนี้
- ผู้ที่มีคนในครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นโรคมะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งนรีเวชอื่นๆ
- ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักตัวเกิน
- ผู้ที่มีประจำเดือนเร็ว คืออายุน้อยกว่า 12 ปี
- ผู้ที่หมดประจำเดือนช้ากว่าอายุ 55 ปี
- ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก และผู้ที่ต้องใช้ยากระตุ้นการตกไข่
- ผู้หญิงที่ไม่เคยตั้งครรภ์มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงกว่าผู้ที่เคยตั้งครรภ์มากกว่า 2 ครรภ์ขึ้นไป
อาการเริ่มต้นของ “มะเร็งรังไข่” ที่ควรสังเกต
โรคมะเร็งรังไข่ระยะเริ่มต้นแทบจะไม่มีอาการบ่งบอกได้ หรืออาการที่เกิดขึ้นก็ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็งรังไข่เลย เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ กินอาหารนิดเดียวก็รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง รวมถึงมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ปัสสาวะบ่อย ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ทำให้หลายคนประมาทและไม่คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของมะเร็งรังไข่ได้ จึงไม่ได้ไปตรวจคัดกรองหรือตรวจภายใน กว่าจะสงสัยหรือไปตรวจก็มักจะเป็นในระยะลุกลามแล้ว คือจะคลำพบก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย เริ่มมีอาการปวดท้องมาก หรือมีน้ำในช่องท้องจนรู้สึกท้องโตผิดปกติ
4 ระยะของมะเร็งรังไข่- ระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งกระจายอยู่เฉพาะบริเวณรังไข่ หากตรวจพบในช่วงนี้ ก็จะทำการผ่าตัดรักษาได้ทันท่วงที โดยที่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ หากมีการตรวจภายในเป็นประจำก็มีโอกาสที่จะพบโรคในระยะนี้ได้มากกว่าคนที่ไม่เคยตรวจเลย
- ระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งกระจายไปสู่อุ้งเชิงกราน ก็ยังอยู่ในระยะที่ตรวจพบได้น้อยเช่นกัน เนื่องจากไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาเลย ทำให้มะเร็งรังไข่ลุกลามกลายเป็นภัยเงียบที่อันตรายกว่าที่หลายคนคิด
- ระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งกระจายไปสู่เยื่อบุช่องท้อง เป็นระยะที่มักตรวจพบมากที่สุด เนื่องจากหน้าท้องจะขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็วจากการมีสารน้ำต่างๆ ในท้องมากขึ้น จนสังเกตเห็นได้ถึงความผิดปกตินี้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการตึงและแข็งที่ท้องมากขึ้น แต่น้ำหนักกลับลดลง
- ระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งกระจายเข้าสู่อวัยวะอื่นๆ นอกช่องท้อง อาจลามไปที่ตับหรือปอดอย่างรวดเร็ว
แนวทางการป้องกันและรักษามะเร็งรังไข่
แม้มะเร็งรังไข่ในระยะต้นๆ จะรักษาง่ายกว่าในระยะอื่นๆ แต่เนื่องจากมะเร็งรังไข่มักไม่แสดงอาการให้รู้หากไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ดังนั้นผู้หญิงเราจึงควรป้องกันและดูแลตนเอง ด้วยการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเน้นการตรวจภายในหรือตรวจอัลตร้าซาวด์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มีน้ำหนักเกิน กินอาหารที่มีประโยชน์ และควรลดการกินไขมันจากสัตว์ เพราะหากกินในปริมาณที่มากเกินไปจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่สูงขึ้น
ทั้งนี้ หากรู้สึกถึงความผิดปกติต่างๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งการรักษามะเร็งรังไข่มีตั้งแต่การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด และการฉายรังสี ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line : Paolochokchai4