ซีสต์ หรือ ถุงน้ำรังไข่ หากเป็นจะอันตรายแค่ไหน
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
19-พ.ค.-2566
“ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่” โรคที่คุณผู้หญิงทุกคนอาจเสี่ยงเป็น หากไม่ดูแลสุขภาพของตัวเอง และหากปล่อยไว้นานจนมีอาการรุนแรงมากขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายหรืออาจเสี่ยงเป็น “มะเร็ง” ได้ ดังนั้น ตรวจก่อน ป้องกันก่อน เพื่อให้คุณสามารถรับมือกับความเสี่ยงนี้ได้อย่างถูกวิธี


ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ โรคที่ผู้หญิงต้องทำความรู้จัก

เป็นภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำเกิดขึ้น โดยจะพบซีสต์หรือถุงน้ำหลายใบในรังไข่ และเมื่อซีสต์หรือถุงน้ำเข้าไปเบียดรังไข่ ก็จะทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติ เกิดเป็นก้อนหรือตุ่มตามร่างกาย โดยมีลักษณะเป็นถุงที่บรรจุอากาศ ของเหลว น้ำ ไขมัน และอาจมีเนื้อเยื่อผสมอยู่ ซึ่งมักจะไม่ค่อยมีอาการเตือนใดๆ กว่าจะรู้ตัวก็กลายเป็นก้อนใหญ่ และมีภาวะแทรกซ้อนไปแล้ว
1. เนื้องอกธรรมดาหรือชนิดไม่ร้ายแรง (Benign)
  • Simple cystเป็นซีสต์ที่หายเองได้ตามธรรมชาติ และโอกาสเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งก็มีน้อยกว่าชนิดอื่นๆ
  • Dermoid cyst เป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ ซึ่งภายในจะมีเนื้อเยื่อลักษณะเหมือนกับเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ไขมัน ฟัน เส้นผม
  • Endomentriotic cyst เป็นซีสต์ที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกไปตกที่ผิวหนังรังไข่ และมีการเจริญเติบโตของเซลล์ท่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้เมื่อมีประเดือนในแต่ละรอบเดือน ก็จะมีการสะสมเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดเป็นก้อนถุงน้ำที่มีสีน้ำตาลคล้ายๆกับสีของช็อกโกแลต

2. เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง (Malignant)
เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ และแพร่กระจายลุกลามไปเรื่อย ๆ ตามเนื้อเยื่ออื่นในบริเวณใกล้เคียง หรือเนื้อเยื่อที่อวัยวะอื่น ๆ ผ่านทางเลือด โดยเซลล์เนื้อร้ายจะไปทำลายเซลล์ปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี



ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ เกิดได้ขึ้นอย่างไร ?
ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่เกิดจากการตกไข่ที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ หรือไข่ไม่ตก และเกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กในรังไข่ทั้งสองข้าง ส่งผลให้เมื่อมีประจำเดือนรังไข่ก็จะเริ่มสร้างฮอร์โมน และโตเป็นถุงน้ำ พอถุงน้ำแตกออกเพื่อให้ไข่ตก ถุงน้ำที่ค้างอยู่ก็จะค่อยๆ ยุบตัวหายไปได้เองตามรอบเดือน แต่ในบางรายที่ถุงน้ำไม่แตกออกให้ไข่ตก ถุงน้ำก็จะค้างอยู่นานกว่าปกติประมาณ 2-3 เดือน ถึงจะค่อยยุบตัวลงไป


สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง ก่อนเสี่ยงเป็นซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่
  • ปวดหน่วงท้องน้อย
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากซีสต์เริ่มโตขึ้น
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ คือ มามาก มากะปริบกะปรอย และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกเดือน
  • คลำเจอก้อนเนื้อที่หน้าท้อง
  • หน้าท้องโตขึ้นผิดปกติ


ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ เป็นแล้วจะอันตรายแค่ไหน

ซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ ในช่วงระยะแรกมักจะไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้คุณผู้หญิงหลายๆคน อาจไม่ทันได้ระวังตัว ส่งผลให้ถุงน้ำมีขนาดใหญ่มากขึ้น และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปวดท้องรุนแรง เกิดพังผืดในช่องท้อง หรือมีบุตรยาก ซึ่งในกรณีที่ถุงน้ำเกิดการบิดหรือแตกรั่ว และมีเลือดออกมากในช่องท้อง จำเป็นต้องทำการผ่าตัด เพื่อนำเนื้อเยื่อนี้ออกไป เพราะหากปล่อยไว้ก็อาจเสี่ยงเป็นมะเร็งหรืออันตรายถึงขั้นชีวิตได้


วิธีการตรวจวินิจฉัยซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ผ่านทางหน้าท้อง จะต้องดื่มน้ำเปล่าแล้วกลั้นปัสสาวะเอาไว้ เพื่อให้สามารถมองเห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจนขึ้น
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอด แพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กประมาณ 2 เซนติเมตร เข้าไปทางช่องคลอด ซึ่งจะสามารถมองเห็นหน้าท้องได้อย่างชัดเจน เนื่องจากไม่ต้องพวกชั้นผิวหนัง ชั้นไขมัน หรือชั้นกล้ามเนื้อ ซึ่งผลการตรวจมีความแม่นยำมากกว่าแบบตรวจอัลตร้าซาวด์ผ่านหน้าท้อง


การรักษาซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่
หากตรวจพบแล้วอยู่ในอาการที่ไม่รุนแรง แพทย์จะรักษาตามอาการ หรือให้ยาประเภทยาฮอร์โมน เพื่อทำให้ขนาดของซีสต์ลดลง หรือกดให้ซีสต์ยุบตัวลง  ซึ่งเเพทย์จะนัดมาอัลตร้าซาวด์ซ้ำ เพื่อติดตามดูขนาดของก้อน ซึ่งในการตรวจซ้ำอาจจะเจอถุงน้ำที่ยุบตัวลง หรืออาจเจอถุงน้ำที่ขยายใหญ่ขึ้นได้


การผ่าตัดซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง
การส่องกล้องผ่าตัดช่องท้องเป็นเทคนิคการผ่าตัดช่องท้อง และอุ้งเชิงกรานด้วยกล้องแลปพาโรสโคปโดยสอดเข้าในท่อนำกล้องที่ใส่ผ่านแผลขนาดเล็กเท่านิ้วมือบริเวณสะดือเข้าไปในช่องท้อง ซึ่งกล้องจะแสดงภาพอวัยวะต่างๆผ่านทางหน้าจอมอนิเตอร์ที่มีความคมชัดสูง แม้แต่เส้นเลือดเล็กๆก็สามารถมองเห็นได้ ส่งผลให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยสูง และเป็นวิธีที่ตอบโจทย์คุณผู้หญิงทั้งรอยแผลที่มีขนาดเล็ก การฟื้นตัวไว และสามารถกลับไปใช้ได้ตามปกติได้เร็วขึ้น


โอกาสที่จะกลับมาเป็นซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่ซ้ำอีกรอบได้หรือไม่
โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกรอบ ก็อาจจะขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน ซึ่งจะต้องป้องกันสุขภาพของตัวเองไม่ให้มีความเสี่ยง ทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ การออกกำลังกายเป็นประจำ หรือไม่เครียดจนเกินไป เพราะสาเหตุเหล่านี้ส่งผลให้ฮอร์โมนผิดปกติ ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี และคอยสังเกตร่างกายตัวเองอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่คุณกลับมาเสี่ยงเป็นโรคร้ายได้อีกครั้ง



อย่างไรก็ตาม หากคุณมีความกังวล ไม่แน่ใจว่าอาการเตือนที่เกิดขึ้นกับคุณ ใช่โรคซีสต์หรือถุงน้ำรังไข่หรือไม่ ก็สามารถเข้ามาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพของตัวเองได้ และหากตรวจพบความผิดปกติก็จะสามารถรักษารอยโรคได้อย่างตรงจุด



ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์สุภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2
โทร. 02-514-4141 ต่อ 5148 - 5220
Line id : @Paolochokchai4