ช็อกโกแลตซีสต์ โรคฮิตถุงน้ำรังไข่
โรงพยาบาลเปาโล
09-มี.ค.-2563
โดยปกติแล้ว การเกิดถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ในระยะแรกจะไม่ค่อยมีอาการแสดง ทำให้ไม่ค่อยรู้ตัว แต่หากได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจภายใน และการทำอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด จะทำให้เห็นรังไข่และมดลูกอย่างละเอียด และหากพบว่ามีถุงน้ำรังไข่ก็จะรักษาได้อย่างรวดเร็วไม่ลุกลามจนเจ็บปวดหรือรักษายากยิ่งขึ้น

ซีสต์คืออะไร?

"ซีสต์" หรือ "cyst" หมายถึง "ถุงน้ำ" ดังนั้น อะไรก็ตามที่มีเปลือกและมีน้ำหรือของเหลวภายในก็จะเรียกว่า "ซีสต์" ซึ่งซีสต์เองสามารถเกิดได้ในหลายอวัยวะในร่างกาย

ซีสต์รังไข่ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ เป็นถุงน้ำตามธรรมชาติที่เกิดจากการมีรอบเดือนในวัยเจริญพันธุ์ เมื่อมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกก็จะลอกออก รังไข่ก็จะเริ่มสร้างฮอร์โมนและโตเป็นถุงน้ำ พอถุงน้ำแตกออกเพื่อให้ไข่ตก ถุงน้ำที่คาอยู่จะค่อยๆ ยุบไปได้เอง ในกรณีถุงน้ำไม่แตกออกให้ไข่ตก ถุงน้ำก็จะค้างคาอยู่นานกว่าปกติ คือ 2-3 เดือน จึงค่อยยุบไป ในบางราย เมื่อไข่ตกแล้วอาจมีเลือดออกในถุงน้ำเล็กน้อยซึ่งมักหายได้เองตามธรรมชาติ แต่หากมีเลือดออกมากในช่องท้องก็จำเป็นต้องทำการผ่าตัดรักษา

ประเภทของถุงน้ำรังไข่

ถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์รังไข่มี 3 ประเภท
    • ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ (Functional Cyst)
คือ ถุงน้ำรังไข่ที่เกิดจากการทำงานตามปกติของรังไข่เพื่อสร้างไข่ที่เป็นเซลล์สืบพันธุ์ในเพศหญิง
    • เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ (Ovarian Tumor หรือ Ovarian Cyst)
คือ เนื้องอกรังไข่ชนิดที่มีของเหลวภายใน ซึ่งอาจเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงหรือร้ายแรง (มะเร็ง) ก็ได้ โดยมากเนื้องอกแต่ละชนิดมักจะมีลักษณะเฉพาะที่พอจะบอกได้ว่าเป็นชนิดใดด้วยการตรวจเอกซเรย์หรือตรวจอัลตราซาวด์ เนื้องอกถุงน้ำรังไข่ที่เป็นมะเร็งบางชนิดจะสามารถตรวจพบสารเคมีบางอย่างในกระแสเลือดได้ เช่น หากพบ CA 125 ก็จะพอประเมินได้ว่าเป็นเนื้อร้าย ซึ่งจะทำการตรวจให้ละเอียดต่อไป
    • ถุงน้ำที่คล้ายเนื้องอก (Tumor like condition) หรือช็อกโกแลตซีสต์
คือ ถุงน้ำที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่โดยเกิดขึ้นที่รังไข่ เมื่อมีประจำเดือนเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ก็จะมีเลือดซึมออกมาสะสมในถุงน้ำนี้จนเป็นเลือดเก่าข้น มีสีคล้ายช็อกโกแลต จึงเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst)

อาการเตือนซีสต์รังไข่ที่ควรสังเกต

ส่วนใหญ่ผู้ที่มีถุงน้ำรังไข่ผิดปกติในระยะแรกหรือมีขนาดเล็กมักไม่ค่อยมีสัญญาณเตือนหรือมีอาการใดๆ แต่มักตรวจพบเมื่อได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือผู้ป่วยเข้ามารับการตรวจภายในจากการเป็นโรคอื่นๆ ส่วนผู้ที่เริ่มมีอาการ ก็จะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละราย ดังนี้
  • บางรายปวดบริเวณท้องน้อย หากการปวดสัมพันธ์กับรอบเดือนก็สงสัยได้ว่าอาจมีช็อกโกแลตซีสต์
  • บางรายปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากซีสต์มีขนาดใหญ่จนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
  • บางรายแค่มีอาการหน่วงๆ ท้องน้อย
  • บางรายมีประจำเดือนผิดปกติ คือ มามาก มากระปริบกระปรอย ปวดประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละเดือน
  • บางรายมีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน เนื่องจากขั้วถุงน้ำรังไข่บิด หรือถุงน้ำรังไข่แตก กรณีนี้ต้องรีบพบแพทย์
    • แม้ฟังดูว่าเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและรักษาได้ แต่ในกรณีที่ถุงน้ำรังไข่แตกออกและมีเส้นเลือดฉีกขาดอาจทำให้ตกเลือดในช่องท้องและมีโอกาสเสียชีวิตได้ ผู้หญิงทุกคนจึงควรให้ความสนใจ เมื่อสังเกตได้ว่ามีอาการผิดปกติในข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ควรรีบพบสูติ-นรีแพทย์ เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาต่อไป

ตรวจวินิจฉัยถุงน้ำรังไข่ด้วยแพทย์เฉพาะทาง

แพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ ประวัติการมีประจำเดือน พร้อมกับสอบถามอาการต่างๆ กรณีผู้ป่วยยังเด็กหรือยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ แพทย์มักจะตรวจโดยการทำอัลตราซาวด์บริเวณช่องท้องส่วนล่างเพื่อให้เห็นมดลูกและรังไข่ได้ชัดเจน บางรายอาจจำเป็นต้องทำอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดหรือทางทวารหนักเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องความเจ็บจากการตรวจ เนื่องจากหัวตรวจอัลตราซาวด์ที่ใช้ตรวจทางช่องคลอดหรือทวารหนักจะเป็นหัวตรวจขนาดเล็ก ผู้ได้รับการตรวจจะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด

ถุงน้ำรังไข่ ใช่มะเร็งหรือเปล่า

แม้ว่าถุงน้ำรังไข่จะมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ค่อนข้างน้อย แต่แพทย์ก็จะไม่ตัดข้อสงสัยนี้ทิ้งทันที โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ ได้แก่ มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ หรือเมื่อทำการอัลตราซาวด์แล้วพบลักษณะของถุงน้ำขอบไม่เรียบ พบน้ำในช่องท้อง เมื่อแพทย์สงสัยก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมต่อไป

หลายวิธีรักษาถุงน้ำรังไข่

    • ติดตามอาการ
กรณีสงสัยว่าเป็นถุงน้ำรังไข่ชนิดฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ แพทย์จะนัดตรวจติดตามอาการเพื่อดูว่าถุงน้ำยุบไปเองหรือไม่ โดยบางรายอาจต้องได้รับยาคุมกำเนิดแล้วจึงนัดมาตรวจซ้ำ ถ้าซีสต์ไม่ยุบหรือโตขึ้นแสดงว่าไม่ใช่ฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ ก็จะทำการรักษาหรือผ่าตัดออก
    • ผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน
มักจะทำในกรณีเป็นช็อกโกแลตซีสต์ขนาดใหญ่ หรือมีผลทำให้มีบุตรยาก หรือเป็นซีสต์ที่เป็นเนื้องอกรังไข่ เป็นต้น โดยการผ่าตัดทำได้ทั้งแบบผ่าตัดเปิดหน้าท้อง หรือผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยจะผ่าตัดเลาะเอาซีสต์ออกอย่างเดียว หรือตัดรังไข่ออกทั้งหมด จะตัดออก 1 ข้างหรือ 2 ข้าง หรือจะต้องตัดมดลูกออกด้วยหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของซีสต์ ความต้องการที่จะมีบุตรอีกในอนาคต เป็นต้น
    • ผ่าตัดฉุกเฉิน
มักทำในกรณีถุงน้ำรังไข่แตกหรือถุงน้ำรังไข่มีขั้วบิด ซึ่งเกิดได้ทั้งการเป็นฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ และเนื้องอกถุงน้ำรังไข่ แต่ในกรณีที่เป็นฟังค์ชั่นนัล ซีสต์ แตกและมีเลือดออกในช่องท้องไม่มาก แพทย์อาจสังเกตอาการโดยให้พักที่โรงพยาบาล ถ้าอาการดีขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

หลังผ่าตัดซีสต์รังไข่ ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

  • 7-10 วันแรกไม่ควรให้แผลเปียกน้ำ
  • สามารถออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน
  • ใน 6 สัปดาห์แรก ควรงดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหน้าท้อง
  • กินยาตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดหมาย
  • หากมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ แผลบวม แดง แฉะ ปวดท้องมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดนัด
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 4-6 สัปดาห์ จนกว่าแพทย์จะตรวจว่าปลอดภัยและแผลหายดีแล้ว

ตรวจภายในให้ประโยชน์หลายอย่าง

แม้ว่าสาเหตุของมะเร็งถุงน้ำรังไข่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากสถิติพบว่า ผู้หญิงที่ทำหมันแล้วมีโอกาสเป็นมะเร็งถุงน้ำรังไข่น้อยกว่าผู้หญิงที่ยังไม่ได้ทำหมัน ดังนั้น หากเป็นหญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้วหรือไม่สามารถมีบุตรได้แล้ว และมีการเข้ารับการรักษาในโรคอื่นๆ ที่ต้องผ่าตัดในช่องท้องอยู่แล้ว แพทย์มักจะแนะนำให้ตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้างออกด้วยเลย เพื่อป้องกันความเสี่ยงโรคมะเร็งรังไข่ การตรวจสุขภาพพร้อมกับการตรวจภายในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ช่วยให้พบความเสี่ยงของโรคต่างๆ เพื่อป้องกัน หรือรักษาได้ทันท่วงทีก่อนลุกลามจนเจ็บปวดและยากต่อการรักษา