สารพัดปัญหา “โรคข้อ” ที่ควรต้องใส่ใจ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
06-ธ.ค.-2561
ปัญหาโรคข้อ อาจไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่หากผู้ป่วยปล่อยปละละเลย ขาดความรู้และการสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้ข้อเกิดการอักเสบรุนแรงและถูกทำลายจนกลายเป็น “พิการ” ถาวร รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคร้ายที่รุนแรงได้ในอนาคต

อาการแบบนี้ บ่งชี้ว่า “ข้อ” กำลังมีปัญหา

- ปวด/ เจ็บบริเวณข้อ
- มีอาการเกิดขึ้นหลังไม่ได้ใช้งานข้อเป็นเวลานาน เช่น หลังตื่นนอน จะเกิดอาการข้อฝืด ข้อยึดติด
- มีอาการบวม แดง ร้อนๆ อุ่นๆ บริเวณข้อ
- ข้อผิดรูปร่าง หรือบิดเบี้ยว


3 โรคข้อยอดฮิต !! ที่ต้องรู้จัก

1. โรคข้อเสื่อม

เป็นปัญหาที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อต่อไว้ เพื่อป้องกันการเสียดสีกันเมื่อเราเคลื่อนไหว โดยอาการข้อเสื่อมมักเป็นผลมาจากอายุและการใช้งาน เช่น อ้วน ชอบนั่งยองๆ หรือชอบออกกำลังกายที่เป็นอันตรายต่อข้อกระดูก เป็นต้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดบริเวณข้อต่อจนไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ

การรักษาเมื่อเป็น “โรคข้อเสื่อม”: กรณีที่อาการปวดไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมเพื่อลดปัจจัยในการเพิ่มความเสื่อม ร่วมกับการใช้ยาระงับปวดและ/หรือยาบำรุงกระดูกอ่อน แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อมรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดโดยมีอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น ผ่าตัดส่องกล้อง ผ่าตัดเชื่อมกระดูก หรือผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

2. โรคเก๊าท์

เป็นโรคข้ออักเสบที่เป็นผลมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง เมื่อเกิดการสะสมของกรดยูริกในปริมาณมากเกินไป ทำให้เกิดการตกผลึกตามข้อต่างๆ และส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า

การรักษาเมื่อเป็น “โรคเก๊าท์”: สำหรับการรักษาโรคเก๊าท์นั้น แพทย์จะเลือกใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของข้อมากยิ่งขึ้น แต่หากผู้ป่วยปล่อยเรื้อรังมานานไม่ได้รับการรักษา แพทย์อาจเลือกใช้วิธีการผ่าตัดรักษาแทนการใช้ยา เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของโรคที่อาจเกิดขึ้น


3. โรครูมาตอยด์

เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลายตัวเอง โดยเกิดการทำลายเยื่อหุ้มข้อ..ทำให้เกิดการอักเสบและบวมขึ้น และท้ายที่สุดอาจทำลายกระดูกอ่อนและกระดูกข้อต่อรวมไปถึงเส้นเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อและกระดูก ส่งผลให้ข้อต่อค่อยๆ ผิดรูปหรือบิดเบี้ยวไปจากปกติ

การรักษาเมื่อเป็น “โรครูมาตอยด์”: การรักษาโรครูมาตอยด์โดยการใช้ยาจะใช้ตัวยาหลายชนิดร่วมกัน เพื่อลดอาการปวดบวม ลดการอักเสบ ช่วยลดความรุนแรงและชะลอให้การดำเนินของโรคช้าลง ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นข้อผิดรูป พิการไม่สามารถใช้งานได้ แพทย์จะเลือกรักษาโดยการผ่าตัด เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ดีขึ้น

สอบถามรายละเอียด

คลินิกอายุรกรรม
โทร 02- 514-4141 ต่อ 1100 – 1101